Friday, December 24, 2010

ความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจ หรือ ธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่



ความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจ หรือ ธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่

ดร.ดนัย เทียนพุฒ นึกถึง ในช่วงปี พ.ศ. 2551 ได้ให้แนวคิดที่เป็นความท้าทายใหม่ของธุรกิจครอบครอบรุ่นใหม่
ผู้เขียนมองไกลไปปี 2012 เลยว่าจะมีแนวโน้มทิศทางอย่างไร ติดตามได้ แต่อยากให้อ่านของเดิมไว้ด้วยเพื่อการต่อ   
ยอดความคิด

 *แนวคิดของธุรกิจปี 2012


ดร.ดนัย เืทียนพุฒ มองทิศทางธุรกิจปี 2012


 *แนวคิดของ ธุรกิจในปี 2551 น่าจะมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงไปจากปี 2550 ในอัตราที่มากพอสมควร ผู้บริหารธุรกิจต่างก็รอคอยว่า ผู้รู้หรือโหรเศรษฐกิจจะให้คำทำนายอะไรที่จะเป็นประโยชน์กับการดำเนินธุรกิจในปี 2551 กันบ้าง
ว่าจะคิดอย่างไรกับธุรกิจก้าวใหม่
ผู้เขียนบอกได้เลยครับว่า
-ราคาน้ำมันยังคงแพงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าว่าจะลดลงได้เพราะ ชาติผู้ผลิตน้ำมันควบคุมราคา(ให้สูง)และการผลิต(ให้ไม่มาก) ถ้าเรายังไม่คิดเรื่องพลังงานทดแทนให้เร็วขึ้น ธุรกิจคงแย่ละครับ
-อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ อยู่ระหว่าง 4-5 % ดีไม่ดีขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ (รัฐบาลนี้เขาเข้าบ้านพักแล้ว สนใจแต่ออกกฎหมาย ลงโทษคนผิดเท่านั้น)
-รัฐบาลใหม่ต้องกล้าเร่งการลงทุน และ กล้ายกเลิกกฎหมาย "ทุนทางสังคมนิยม" โดยพิจารณาสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศซึ่งรัฐบาลขิงแก่ชราภาพออกมาอย่างมากมาย ในช่วง 1 ปี
-แนวโน้มการพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์มีมากขึ้น เพราะ หน่วยงานของรัฐ เช่น จุฬา ฯ กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินฯ เปิดที่ผืนใหม่เพื่อ การพัฒนามากขึ้น
-พฤติกรรมผู้บริโภค จะเปลี่ยนแปลงไปตามการเกิดของระบบขนส่งมวลชนที่กำลังจะเกิดขึ้น ใช้ชีวิต กับคอนโดขนาดเล็ก กลางเมือง หรือ แนวรถไฟฟ้า มีรายได้มากขึ้นเพราะแต่งงานช้า หรือไม่มีลูก ชอบการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ยังเน้นความสะดวกสบายในใช้ชีวิตด้านสันทนาการ ดู หนัง ฟัง เพลง ดื่มเหล้า ท่องเที่ยว เล่นเน๊ต เป็นเรื่องปกติ
อะไรคือความท้าทายใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจ
ผู้เขียนพอมีเวลาว่าง ทำให้นึกถึงตอนที่แว็บบินไปสิงคโปร์ จึงเกิดตัวอย่างของ “Business Case Study” หรือกรณีตัวอย่างทางธุรกิจมาเล่าให้ผู้บริหารธุรกิจหรือผุ้ประกอบการธุรกิจและ ผู้ที่สนใจจะได้ศึกษาหรือเปิดโลกความคิดทางธุรกิจ
ตัวอย่างของ Kid’s Ergonomics: Strategy Pro International Pte.,Ltdสิ่งที่น่าสนใจจากผู้ประกอบการของสิงคโปร์คือ อะไรเป็นหัวใจในการสร้างธุรกิจ
1) การใช้ดีไซน์สร้างธุรกิจให้โดดเด่น นี่คือความโดดเด่นอย่างยิ่งหมายความว่า สินค้าที่เป็นโต๊ะนักเรียนสำหรับลูกๆ ที่บ้าน เป็นโต๊ะที่ดีไซน์แบบสุดยอดไฮเทค
- โต๊ะนักเรียนที่สามารถปรับให้สูงขึ้นลงได้ตามความต้องการของผู้ใช้
2) การใช้ชื่อที่เป็นความฝันของเด็กนักเรียนตะวันตก เช่น รุ่น Cambridge และรุ่น Harvard

ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวทำให้ผู้เขียนนึกถึงตอนที่ทางสถาบัน SMEs ให้ผู้เขียนบรรยายเรื่อง
การวางแผนธุรกิจให้กับผู้เข้าอบรมที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ หรือ ธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่
ซึ่งตามเนื้อหาที่ออกแบบไว้ของสถาบัน SMEs น่าจะเพียงพอ ทั้งนี้เนื่องจากเนื้อหาประกอบด้วย

ผู้เขียนพบจุดอ่อนทางธุรกิจเมื่อได้มีโอกาสฟังการบรรยายพิเศษจากอาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมัน
ซึ่งมาบรรยายหัวข้อการตลาดระหว่างประเทศ
อาจารย์ชาวเยอรมันที่สอนพยายามสอนด้วยแนวคิดของปรัชญาการตลาด ซึ่งเพื่อนหลายคนของผู้เขียนมีความรู้สึกว่าน่าเบื่อ และมีปัญหาข้ามวัฒนธรรมค่อนข้างมากในพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเยอรมันกับพฤติกรรมคนไทยค่อนข้างต่างกัน

แต่ผู้เขียนกลับคิดว่าสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญด้วยเหตุผลที่ว่า การเรียนถึงแก่นปรัชญาของวิชานั้นเป็นหัวใจที่จะเข้าใจในเนื้อหาและนำไปประยุกต์ใช้ได้ตลอดชีวิต
การเรียนเพียงหลักการและตัวอย่างแบบที่นิยมในสถาบันการศึกษาไทยและองค์กรธุรกิจไทย ไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เรามีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งจากตัวอย่างของผู้ประกอบการของธุรกิจสิงคโปร์ เราจะพบว่ามีปรัชญาของการตลาดที่น่าสนใจแล้วสร้างความท้าทายทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนได้สอบถามว่าเป็นสินค้านำเข้าหรือไม่ ผู้ขายได้บอกกับผู้เขียนว่าเป็น โลคอลแบรนด์ แต่ในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าเป็นการคิดแบบโกลบอล 

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com
Line ID : thailand081

โมเดลของการสืบทอดธุรกิจครอบครัว : Thai Family Business Succession


น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่ปัจจุบันมีความสนใจในธุรกิจครอบครัว (Family Business) กันค่อนข้างมาก เนื่องด้วยผู้เขียนได้รับการสอบถามอยู่เสมอ
- มีนักศึกษาปริญญาเอกหลายๆ ท่านสนใจสอบถามพูดคุยถึงแนวทางการทำ Dissertation เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว
- เรื่องราวของธุรกิจครอบครัวที่ผู้เขียนโพสต์ไว้ใน blog โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์ มีผู้เข้าชมเกือบ 500 ท่าน
- การแข่งขันของธุรกิจธนาคารมีสูงมากจนต้องโดดเข้ามาสร้างความแตกต่างใหม่เพื่อจับกลุ่มลูกค้า SMEs และผู้ประกอบการโดยเข้ามาพัฒนาธุรกิจครอบครัว เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างและจริงจังมากกว่าในอดีต
- อีกทั้งยังมีหลายๆ สถาบันการศึกษาเปิด MBA ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ธุรกิจ SMEs และธุรกิจครอบครัว (Family Business)

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้น การศึกษาของ Longenecker และคณะ (2006) พบว่า การเริ่มต้นธุรกิจ (Business Startup) นั้นมาจากแหล่งของไอเดียที่ช่วยสร้างธุรกิจ เช่น ประสบการณ์ในงานที่เคยทำมาก่อน (45%) ความสนใจส่วนตัวหรืองานอดิเรก (16%) โอกาสที่บังเกิดขึ้น (11%) คำแนะนำ (7%) ส่วนธุรกิจครอบครัวและการศึกษาหรือเข้าหลักสูตรอบรม (เพียง 6%)
(รูปสไลด์ที่ 1 ด้านล่าง)

โมเดลของการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
สิ่งที่สนใจกันมากอีกอย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวคือ การสืบทอดธุรกิจ (Suc-cession in Family Business) เพราะมีทฤษฎีหรือการพัฒนาในธุรกิจเมืองไทยให้เห็นน้อยมากหรืออาจจะพูดได้ว่า “ธุรกิจครอบครัวในเมืองไทยขาดการค้นคว้าและศึกษามายาวนานนับหลายทศวรรษ”
จะมาสนใจศึกษากันว่า ธุรกิจครอบครัวเป็นมาอย่างไรคงประมาณไม่เกิน 10 ปีมานี้เอง
จุดเริ่มต้น การพัฒนาการจัดการจุดเริ่มต้นของการวางแผนสืบทอดธุรกิจ (Suc-cession Planning)
หัวใจอย่างหนึ่งของธุรกิจที่ถ่ายทอดกันมาคือ เรื่องของการสืบทอดธุรกิจ (Succession Planning) ซึ่งเกิดมาจากความต้องการของธุรกิจในการที่จะขยายกิจการแล้วต้องการผู้บริหารเข้ามารับผิดชอบงานดังกล่าวในอนาคต กับการเตรียมผู้บริหารไว้ทดแทนผู้บริหารระดับสูงที่ลาออกหรือเกษียณออกไป หรือถูกซื้อตัวจะได้มีตัวตายตัวแทน (Successor)
(รูปสไลด์ที่ 2 ด้านล่าง)

Woodall และ Winstanly (1998) ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในการพัฒนาการจัดการ (Management Development) เกี่ยวกับแนวคิดในการวางแผนสืบทอดธุรกิจที่เกิดมาจากความจำเป็นใน 3 ส่วนด้วยกันคือ 1) ความจำเป็นของธุรกิจ (Business Needs) ในด้านกลยุทธธุรกิจ (Business Strategy) 2) ความจำเป็นขององค์กร (Organization Needs) ในด้านการพัฒนาองค์กร (Organization Development) และการพัฒนาการจัดการ (Management Development) และ 3) ความจำเป็นส่วนบุคคล (Individual Needs) ในเรื่องการพัฒนาตนเองและการวางแผนอาชีพของตนให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กร

การสืบทอดธุรกิจครอบครัว โมเดลการจัดการสืบทอดธุรกิจครอบครัว

แม้ว่า Ward (2005) จะได้เสนอ เมทริกซ์ระยะของตัวตายตัวแทน (Successor’s Phases Matrix) ผู้เขียนยังอยากจะเสนอโมเดลของการสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่ Longenecker & et al (2006) ได้พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1978 และเป็นโมเดลที่ได้รับการพูดถึงอยู่พอสมควร ซึ่งในโมเดลนี้มี 7 ระยะด้วยกันดังรูปที่ 3 (สไลด์ด้านล่าง)
ทั้งหมดใน 7 ระยะนี้คือ การเข้าสืบทอดธุรกิจของตัวตายตัวแทนอย่างเต็มตัวของธุรกิจครอบครัว ไม่รู้ว่าธุรกิจครอบครัวไทยจะมีลักษณะแบบนี้หรือไม่ น่าสนใจศึกษาและคราวต่อไปจะเสนอสุดยอดพาราไดม์ของทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้
กันครับ!




ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ
บจก. ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์
โทร 029301133

แก่นแท้ของความเป็นธุรกิจครอบครัว



ในประเทศใดก็ตามผู้เขียนเห็นว่า หากศึกษาในลึกซึ้งเราจะพบว่าความจำเป็นและความสำคัญของธุรกิจครอบครัวนั้นถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ของรากฐานการพัฒนาธุรกิจเศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติแต่ในเมืองไทยกลับพบว่ามีการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวน้อยมาก (ได้ลองสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตปรากฏว่าไม่มีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ต่อการทำการวิจัยได้เลย)
ขณะที่ในทางกลับกัน ข้อมูลจากต่างประเทศกลับมีมากกว่าจนถึงขนาดเป็นหลักสูตรในสถาบันการศึกษาและสถาบันด้านธุรกิจครอบครัวที่มีเครือข่ายใหญ่โต
"ครอบครัว" ในมิติของธุรกิจครอบครัวไทย
ผู้เขียนร่วมมือกับเพื่อนท่านหนึ่งกำลังทำวิจัยเรื่อง "พาราไดม์สู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทยจากรุ่นสู่รุ่น" (A Successful Paradigm of Thai Family Business from Generation to Generation) ซึ่งมีโครงการย่อย 2 โครงการด้วยกันคือ โครงการย่อยแรกเป็นการวิจัยเกี่ยวกับโมเดลความสามารถของธุรกิจครอบครัวไทย และโครงการย่อยที่สองเป็นการวิจัยการพัฒนากระบวนทัศน์การสืบทอดธุรกิจครอบครัวไทย
ในระหว่างที่ผู้เขียนพิจารณาเกี่ยวกับ องค์ประกอบในโมเดลของธุรกิจครอบครัวคือ ครอบครัว (F: Family) ธุรกิจ (B: Business) ความเป็นปัจเจกบุคคล(I: Individual) และความเป็นเจ้าของ (O: Ownership)
โดยเฉพาะคำว่า "ครอบครัว" (F) จะนิยามอย่างไรให้ตรงกับธุรกิจครอบครัวไทยให้ได้มากที่สุด

เผอิญเมื่อวันที่ 19 ก.พ.50 ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่อง "AQ: การพิชิตอุปสรรคอย่างอัจฉริยะ" (AQ: Adversity Quotient) เน้นสไตล์ไทยเพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขให้กับกลุ่มผู้บริหารและพนักงานบริษัทในเครือชัยสุวรรณ ที่โรงแรม Royal Ping อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้มีโอกาสสนทนาและกลายเป็นสัมภาษณ์คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานกลุ่มบริษัทเครือชัยสุวรรณ

ประการแรก 30 ปีของกลุ่มชัยสุวรรณ (Chai Su Wan Group: CSW Group) กลุ่มชัยสุวรรณได้เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2520 โดยคุณยู เจียรยืนยงพงศ์จากการค้าขายอะไหล่สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลและรถกระบะซึ่งได้เล็งเห็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจอื่นๆ จึงขยายออกไปดังนี้

(1) กลุ่มธุรกิจอะไหล่รถยนต์ ดำเนินธุรกิจค้าปลีกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ โดยเน้นที่การขายอะไหล่รถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น เช่นโตโยต้า ฮอนด้า มาสด้า นิสสัน อีซูซุ มิตซูบิชิ ฯลฯ และในปี 2529 ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอะไหล่แท้ยี่ห้อโตโยต้าอย่างเป็นทางการ (Authorized Part Dealer) ที่มีอยู่ในประเทศเพียง 6 รายเท่านั้น

ในปี 2537 จัดตั้งบริษัทนำเข้าอะไหล่รถยนต์นำเข้าจากประเทศจีนเป็นอะไหล่ที่มีเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น กะทะล้อ รถบรรทุกสำหรับยางชนิดใช้ยางในและไม่ใช้ยางใน ยางรถบรรทุก ฯลฯ

ในปี 2547 จัดตั้งบริษัทใหม่อีกหนึ่งบริษัทดำเนินธุรกิจค้าปลีกอะไหล่รถยนต์ (เน้นรถแท๊กซี่)

(2) กลุ่มธุรกิจค้าส่ง-ปลีกอะไหล่รถยนต์ ก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาในปี 2533 เพื่อดำเนินธุรกิจค้าส่ง-ปลีกอะไหล่รถยนต์สินค้าประเภทบอร์ดี้พาร์ท

(3) กลุ่มธุรกิจการขนส่งปูนซีเมนต์ผงและเถ้าลอย โดยเริ่มแรกปี 2527 ขนส่งให้กับ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง ในปี 2542 ขยายสายการบริการขนส่งเถ้าลอยให้กับ กฟผ. ปี 2547 เพิ่มสายการขนส่งสารเคมี โดยได้ผ่านการรับรอง ISO9000:2001 และคาดว่าในปี 2550 จะได้รับรอง QHSAS 18001

ประการที่สอง แก่นแท้ของคำว่า "ครอบครัว"
โดยทั่วไปแล้วคำว่า "ครอบครัว" (F: Family) ในองค์ประกอบของโมเดลธุรกิจครอบครัว จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว ได้แก่ การสมรส การเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างทายาท ลูกเขย ลูกสะใภ้ แบบแผนการสื่อสารและบทบาทของครอบครัว ซึ่งทำให้สามารถกำหนดรูปแบบครอบครัวตามช่วงอายุได้ 4 ระดับคือ 1.ครอบครัวหนุ่มสาว 2.ครอบครัวเข้าสู่ธุรกิจ 3.ครอบครัวทำงานร่วมกัน และ 4.ส่งมอบธุรกิจให้กับรุ่นต่อไป

จากการสัมภาษณ์คุณยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานกลุ่มชัยสุวรรณใน 2-3 ประเด็นหลักๆ คือ
(1) ความสำเร็จของกลุ่มชัยสุวรรณนั้นอยู่ที่ปัจจัยอะไร
"การวางแผนธุรกิจ เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญเพราะ จะทำธุรกิจอะไรจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบ อาทิ เมื่อผมจะเข้ามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างโรงแรม Royal Ping Garden & Resort ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ผมให้น้องชายได้เข้ามาช่วยด้านธุรกิจค้าปลีกอะไหล่รถยนต์ มีลูกๆ เข้ามาช่วยทำงานในบริษัท ผมจะได้ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เต็มที่โรงแรม Royal Pingฯ นี้อยู่ในทำเลที่ดีมาก เพราะจากตัวเมืองเชียงใหม่ไป อ.เชียงดาวเพียง 70 กม. ผ่าน อ.ชัยปราการ อ.ฝาง สามารถเข้า จ.เชียงราย ซึ่งระหว่างทางไม่มีโรงแรมระดับนี้เลยทำให้ทั้งไป-กลับต้องพักทานอาหารกลางวันที่นี่ และที่นี่ยังสามารถจัดสัมมนา มีแคมป์ไฟ ล่องแพ ชมน้ำตกเจ็ดสี"
สิ่งสำคัญต่อมา ผมทำธุรกิจอะไรผมจะต้องรู้จริงได้ลงมือทำตั้งแต่ต้น ดังนั้นการศึกษาอย่างเข้าใจ การลงมือทำทุกขั้นตอนจะทำให้ผมเข้าใจวิธีการดำเนินธุรกิจและสามารถพัฒนาธุรกิจให้ขยายเติบโตได้
"ความสำเร็จที่ชัดเจนคือ เราเป็นเพียง 1 ใน 6 รายที่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายอะไหล่แท้ยี่ห้อโตโยต้าอย่างเป็นทางการ (Authorized Part Dealer) ของบริษัทโตโยต้า (ประเทศไทย) จำกัด (ไม่นับรวม Part Dealer ที่เป็น Car Dealer)
(2) ความเป็นครอบครัว สิ่งนี้ผู้เขียนได้ข้อมูลเชิงประจักษ์โดยตรงในงานครบรอบ 30 ปี กลุ่มชัยสุวรรณและพิธีมอบรางวัลสำหรับพนักงานที่ทำงานมานาน
- พนักงานทุกคนที่อยู่มาตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัท มีความรักคุณยูเปรียบดัง "พ่อ" หรือผู้ที่มีพระคุณโดยมิอาจลืมเลือนไปได้
-พนักงานบางคนร้องไห้หรือก้มลงกราบแทบเท้าของบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งด้วยสำนึกในการมีชีวิต ประกอบอาชีพและอยู่เป็นตัวตนได้ก็เพราะบริษัทฯ
ด้วยการดูแลและวิธีการบริหารคนอย่างยอดเยี่ยม ทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวชัยสุวรรณ บริษัทเปรียบดังบ้านหลังที่สองที่เขาเหล่านี้จะไม่จากลาไปไหน และสิ่งนี้ทำให้พนักงานรุ่นใหม่ๆ "มีความรู้สึกว่าเขาได้เข้ามาลงทุนชีวิตให้กับบริษัทฯ นี้และเป็นการลงทุนที่ถูกต้องที่สุด"
ประการสุดท้าย ครอบครัวนั้นมีได้อย่างน้อย 3 มิติ
ผู้เขียนสังเคราะห์ได้ว่า ความเป็นครอบครัวนั้นจริงๆ ถ้าพิจารณาตามทฤษฎีจะเป็นมิติตามที่อธิบายไว้คือ บุคคลในครอบครัวและที่เกี่ยวข้อง (พี่น้อง เขย สะใภ้ ลูก หลาน ฯลฯ) แต่ในมิติที่ 2 นี้คือ พนักงานได้ร่วมลงทุนชีวิตจนมีความเป็นครอบครัวเกิดขึ้นกับธุรกิจครอบครัว ส่วนมิติที่ 3 คือ ผู้ร่วมค้า รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวในธุรกิจครอบครัว (ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป)
สิ่งนี้คือ แก่นแท้ที่พบของความเป็นธุรกิจครอบครัวครับ!


วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com

โมเดลธุรกิจครอบครัวไทย โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ


ครั้งแรกที่ผู้เขียนศึกษาถึงความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวในประเทศสิงคโปร์ซึ่งประเทศเขาให้ความสนใจและศึกษากันอย่างเป็นจำนวนมาก  สิงคโปร์เรียกธุรกิจเหล่านี้ว่า "Cottage Industry" หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนว่าเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจครอบครัวที่จะก้าวไปสู่บรรษัทระดับโลก



สิ่งที่ธุรกิจพยายามกันอย่างมากคือ การสร้างคุณค่าให้ลูกค้าเพื่อที่จะได้ทำให้ลูกค้าซื้อสินค้า  แต่การที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้จะมีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 2 อย่างคือ
อย่างแรก  การสร้างให้ลูกค้าฝังจำบริษัทหรือสินค้าไว้ให้อยู่ในใจและหาวิธีดึงเงินมาจากกระเป๋าลูกค้าเมื่อสินค้าหรือบริษัทถูกจดจำอยู่ในใจแล้ว
อย่างที่สอง  การลงทุนในด้านคนขององค์กรเพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดกับองค์กร  จนกระทั่งส่งผลต่อการสร้างคุณค่าให้ลูกค้า
ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการก่อตั้งกิจการ  หรือสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด  ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เริ่มมาจากกิจการเจ้าของคนเดียวไปสู่กิจการที่ใหญ่โต
แต่สิ่งที่น่าทึ่งจนกลายเป็นความอัศจรรย์ใจกับผู้เขียนคือ
: ธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากความเป็นครอบครัว  พอถึงปัจจุบันต่างพยายามหรือปฏิเสธความเป็นครอบครัว  เพราะมีการให้สัมภาษณ์ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลาว่าปัจจุบันไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวแล้วเราบริหารธุรกิจด้วยมืออาชีพมาหลายปีทีเดียว
: ผู้เขียนลองสืบค้นทาง Google เพื่อหาเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า "ธุรกิจครอบครัว" (Family Business) ปรากฏว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ (ความรู้สึกหลังๆ ในการค้นข้อมูลจาก Google จะรู้สึกว่าพบขยะออนไลน์ของหน่วยงานต่างๆ ใน Search Engine ค่อนข้างมาก)
โมเดลธุรกิจครอบครัว
การที่ธุรกิจครอบครัวจะประสบความสำเร็จได้  ควรจะมีโมเดลธุรกิจครอบครัว (Family Business Model) เป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ
ผู้เขียนได้ลองจำลองแก่นของโมเดลการเติบโตสำหรับธุรกิจครอบครัวขึ้นมาดังนี้
1  ขั้นก่อนการเริ่มธุรกิจ เจ้าของธุรกิจวางแผนเสี่ยงและเตรียมงานล่วงหน้าเกี่ยวกับทรัพยากรและจัดลำดับสิ่งที่จะเริ่มต้น อาทิ
- นิยามแนวคิดธุรกิจ
- ศึกษาผลิตภัณฑ์ตลาด
- วางแผนการเงิน
- วางแผนก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ

2  ขั้นเริ่มธุรกิจ
  เป็นขั้นตอนเริ่มธุรกิจเมื่อเจ้าของธุรกิจต้องเสี่ยงในตลาดและจัดทำสิ่งที่จำเป็นหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถอยู่รอดได้

3    ขั้นก่อนการเติบโต
  เป็นช่วงที่พัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว  เมื่อความเสี่ยงได้ผ่านไปจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการตลาด การเงินและการใช้ประโยชน์ทรัพยากร 

4  ขั้นภายหลังการเติบโต
 เป็นขั้นวิวัฒนาการของความเสี่ยงที่จะเข้าไปสู่ธุรกิจใหญ่กับคู่แข่งที่มีกำลังในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น
 ความจำเป็นที่จะจัดการแบบมืออาชีพ  อาจมีความสำคัญมากกว่าการบริหารแบบเจ้าของกิจการ
ส่วนในกรณีธุรกิจครอบครัวไทยที่มาจากกลุ่มคนจีนโพ้นทะเล  ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  มีการพัฒนาและปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว  และสิ่งที่บ่งบอกถึงการปรับตัวได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ การอาศัยบารมีของนักการเมือง  ปกป้องคุ้มครองธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ธุรกิจครอบครัวไทยที่ทรงอิทธิพลอยู่ในเศรษฐกิจสังคมของประเทศในยุคก่อนปี 2540 ที่จะมีวิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจจนประเทศล้มละลาย  แม้ในปัจจุบันก็ยังอยู่ในอาการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มทุนนิยมผูกขาดที่ถูกรัฐประหารไปได้ไม่นานนักจะมีอยู่ในลักษณะธุรกิจผูกขาดหรือธุรกิจกึ่งผูกขาดที่มีผู้ผลิตน้อยราย  และที่ก้าวไปเป็นบรรษัทระดับโลก เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์   การพัฒนาของธุรกิจครอบครัวไทย  จะมีอยู่ 2 ลักษณะสำคัญคือ เป็นการผลิตสินค้าด้านอุปโภคบริโภคที่ไม่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีกับการร่วมทุนกับธุรกิจต่างชาติ
ผู้เขียนเคยนำนักศึกษา MBA ที่เรียนด้านจัดการกลยุทธเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มเครือสหพัฒน์ ได้พบว่า
:  โรงงานที่ผลิตสินค้านั้นในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นการนำเข้าเครื่องจักรมาผลิตสินค้าเหมือนดังที่เราเคยได้เข้าใจกัน  แต่เป็นลักษณะซื้อทั้งโรงงานที่สามารถมาดำเนินการผลิตได้เลยและพนักงาน หรือหัวหน้างานจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ให้ดูแลเครื่องจักรหรือเครื่องควบคุมอัตโนมัติ  เปิด-ปิดเครื่อง  ถ้าเสียก็ให้ฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาเข้ามาดู  หากซ่อมไม่ได้ก็ซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน
- กลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยที่พัฒนามาจากกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลหรือเป็นนาย-หน้าของโรงงานผู้ผลิตสินค้าจากต่างประเทศนั้นไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค  หรือวิศวกรรมด้านอุตสาหกรรมเหมือนญี่ปุ่น ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
-  ต้องยอมรับว่าก่อนปี 2540 กลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยเกือบทั้งประเทศจะถูกครอบงำหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของเหล่าบรรดากลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลักเกือบทั้งหมด  ซึ่งกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์เหล่านี้โดยเฉพาะในยุคก่อนปี 2540 ไม่ได้สนใจการพัฒนาทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม
ซึ่งหากทุกท่านจำได้เมื่อ Tom Peter และ Robert Waterman ได้เขียนหนังสือ In Search of Excellence ออกมาในช่วงปี 1982 มีธุรกิจธนาคารบางแห่งโดดเข้ามาปล่อยสินเชื่อในธุรกิจโรงสีข้าว  เพราะอีกธนาคารหนึ่ง (มุ่งในสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญตามหนังสือ) ขายธุรกิจโรงสีข้าวออกทั้งหมด  ปรากฏว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านธุรกิจโรงสีข้าวไม่ใช่ดาวเด่นอีกต่อไป  ธนาคารที่ให้สินเชื่อเกิดหนี้เป็นจำนวนมากมาย
สรุปแล้วพัฒนาการในสภาพจริงๆ ของธุรกิจครอบครัวไทยในเกือบทุกอุตสาห-กรรมจะเป็นลักษณะ
: กลุ่มธุรกิจครอบครับที่เติบโตหรือมีพัฒนาการโดยเป็นลักษณะธุรกิจกึ่งผูกขาดที่มีผู้ผลิตน้อยรายหรือเป็นธุรกิจผูกขาด เช่น ธุรกิจสุราและธุรกิจโทรคมนาคม
: กลุ่มธุรกิจครอบครัวจะพัฒนาขึ้นในลักษณะของนายหน้าโรงงานผู้ผลิตสินค้าจากต่างประเทศ  หรืออาศัยการร่วมทุนจากกลุ่มธุรกิจต่างชาติเป็นหลัก
: กลุ่มธุรกิจครอบครัวที่สามารถพัฒนาเป็นบรรษัทระดับโลกได้ (Conglome-rates) จะเป็นกลุ่มที่ได้ "สิทธิพิเศษ" จากภาครัฐหรือมีอิทธิพลเหนือรัฐ
การศึกษาของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2549) เกี่ยวกับระบบทุนนิยมที่มีธุรกิจครอบครัวเป็นแกนหลักภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จะถดถอยอ่อนแแอลงอย่างเห็นได้ชัด
แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวไทยจะเป็นลักษณะของธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่จะอยู่รอดได้ด้วยการเข้าถึงอำนาจรัฐโดยตรง หรืออิงแอบกับการเมือง หรือร่วมทุนกับธุรกิจระดับบรรษัทข้ามชาติ  โดยมิอาจปฏิเสธได้ไปอีกตราบนานเท่านาน



Monday, May 31, 2010

ธุรกิจครอบครัวแดนมังกร : มรรคาแห่งมังกรดิจิตอล โดยดร.ดนัย เทียนพุฒ

เรื่องราวของธุรกิจครอบครัวเป็นที่สนใจกันมาก ผู้เขียนยังเห็นผ่านตามีหลาย ๆ คนชอบอ้างถึง Kongo Gumi ที่เป้นธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ถึง 1428 ปี แต่ก็ยังเดินมาสุดทางถนน

(ถูกซื้อกิจการไปโดย Takamatsu ในปี 2006)  ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่สำเร็จมาอย่างไรแต่น่าศึกษาถึงเหตุที่ต้องปิดกิจการมากกว่า (*อ่านได้ที่ Kongo Gumi the end of Family Business)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ในธุรกิจครอบครัวของเอเซียคือ ธุรกิจครอบครัวชาวจีนมีวิธีการทำธุรกิจแตกต่างไปจากที่อื่นหรือไม่

ผู้เขียนได้รับเชิญจากวารสาร K-Connect ของธนาึคารกสิกรไทยให้เขียนเรื่องนี้

















ผู้เขียนสังเคราะห์เปรียบเทียบธุรกิจชาวจีน ตะวันตกและไทย (เห็นนิตยสารการเงินบางฉบับนำไปใช้โดยไม่เคารพความเป็นวิชาการ ไม่อ้างแบบเดาเอาเองว่ามาจากไหน รับรองได้ไม่มีที่ไหนเพราะเป็นงานวิจัยของผู้เขียนที่ลงในวารสาร K-Connect ธ.กสิกรไทย)
อ่านได้ครับ..ธุรกิจครอบครัวแดนมังกร.

K connect ธุรกิจครอบครัวแดนมังกร 

Saturday, May 29, 2010

ทฤษฎีวงกลม 3 วงไม่เวิรค์กับธุรกิจครอบครัวไทย

     ถ้าพูดถึงทฤษฎีธุรกิจครอบครัวแล้ว ไม่มีใครไม่รู้จัก "ทฤษฎีวงกลม 3 วงของธุรกิจครอบครัว"(The Three Circle Model of Family Business) ที่พัฒนาขึ้นโดยTagiuri and Davis(1983) ซึ่งวงแรกคือ ครอบครัว(Family)  วงที่สองคือ ความเป็นเจ้าของ (Ownership) และวงที่สามคือ ธุรกิจ(Business) ผม
ยกมาให้ดูทั้งหน้าเลยครับจาก หนังสือ Generation to Generation (Gersick et al., 1997 pp.5-6) เล่ม
นี้เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ต้องอ่านครับหากต้องการศึกษาอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว



















  
 ต่อมา Ward (2005)  ได้พัฒนามาเป็น โมเดลวงกลม 4 วงของธุรกิจครอบครัว (The four Circle Model of Family Business) โดยพัฒนาจาก ทฤษฎีวงกลม 3วง โดยเพิ่มวงที่สี่คือ ความเป็นส่วนบุคคล(Individual) เข้า ทำให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
     สำหรับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย ผู้เขียนได้ทำการสังเคราะห์พบว่า DNA ของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต ต้องมี 4 แกนหลักด้วยกันคือ  1)แกนครอบครัว(Family axis) 2)แกนความเป็นเจ้าของ (Ownership axis) 3)แกนธุรกิจ( Business axis) และ 4)แกนผู้ประกอบการ (Entrepreneur axis) จึงจะประสบความสำเร็จได้
    
ทั้ง 4 แกนปรากฏตามรูปครับ

อ่านรายละเอียดได้ที่
1.บทความ เจาะดี เอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทย
 2. หนังสือรายงานการวิจัยในรูปแบบใหม่ที่เป็น พ๊อกเก็ตบุ๊ค กึ่งวิชาการ (ไม่ใช่รายงานการวิจัยแบบ
หอคอยงาช้าง)...สนใจดูแล้วสั่งซื้อได้  เล่มแรกของเมืองไทย เจาะลึกอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของธุรกิจครอบครัวไทย พร้อมเปิดตัวอย่างความสำเร็จธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์

ดร.ดนัย เทียนพุฒ

Saturday, March 13, 2010

เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ปีที่ 5 ฉ.2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2552 ได่้ติดต่อขอให้ผมส่งบทความเผยแพร่ ทำให้มีโอกาสค้นงานวิจัยเรื่องธุรกิจครอบครัวไทย ที่ได้ทำไว้ในปีที่ผ่านมา มอบให้ทางกองบรรณาธิการพิจารณาเผยแพร่ ตามที่เห็นสมควร

สนใจอ่านได้ครับ (ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบบทความทางวิชาการมาก่อนเพราะไม่มีเวลาปั้นในรูปแบบนี้ เพราะสนใจและชอบที่จะพิมพ์เป็นรูปเล่มกึ่งวิชาการ ในลักษณะ Commercial research report )

ดร.ดนัย เทียนพุฒ






รากเหง้าของธุรกิจครอบครัว โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ


Pic From: http://www.familybusinessmagazine.com/worldsoldest.html

อ่านเรื่องราวของรากเหง้าของธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัว VS ธุรกิจ SMEs โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนแรกว่า ธุรกิขชองคนไทยมักไม่อยากบอกใครว่าเป็นธุรกิจครอบครัว พอบอกว่าเป็น ธุรกิจ SMEs (Small & Medium Enterprises) กลับรู้สึกว่าเป็นชื่อเรียกที่ดีกว่า
ในเมืองไทยเราอาจจะได้รู้จักชื่อต่อไปนี้
วิสาหกิจชุมชน (Community Enterprises) เป็นธุรกิจเล็กในชุมชน ซึ่งอาจมีบ้านใดบ้านหนึ่งเป็นจุดหลักของการประกอบอาชีพแล้วขยายไปใช้แรงงาน/ฝีมือ หรือวัตถุดิบต่างๆ ในชุมชน ยังไม่สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัยได้
ธุรกิจ SMEs (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เป็นธุรกิจขนาดที่ใหญ่กว่าวิสาหกิจชุมชน โดยที่ในบ้านเราอาจจำแนกธุรกิจ SMEs ด้วยสิ่งต่อไปนี้
-จำนวนพนักงาน
-ขนาดของสินทรัพย์
-รายได้ของผู้ประกอบการ
แล้วธุรกิจทั้ง 2 ลักษณะเป็นธุรกิจครอบครัวหรือไม่
.......ธุรกิจที่มีพ่อ-แม่ พี่น้องช่วยกันดูแลกิจการ เป็นธุรกิจครอบครัวหรือไม่
.......ธุรกิจที่สามี-ภรรยา (คู่สมรส) ร่วมกันทำธุรกิจใช่ธุรกิจครอบครัวหรือไม่
.......ธุรกิจที่ดำเนินการโดยผู้ก่อตั้งคนเดียว อาจเป็นชายหรือหญิงถือเป็นธุรกิจครอบครัว?
.......ธุรกิจที่ร่วมดำเนินการระหว่างเพื่อน 3-4 คนที่สนิทสนมชอบพอกันและเห็นโอกาสทางธุรกิจ
ทั้งหมดนี้ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยว่าเป็นธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัวไทย
ธุรกิจครอบครัวไทยที่มีการดำเนินธุรกิจมาจากส่วนบุคคล (Individual) มีสูงถึงร้อยละ 95.7 (การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2549) และในการสรุปข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม พ.ศ.2550 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2550) พบว่า
•สถานประกอบการทั่วประเทศไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 35.1 เป็นสถานประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และรถจักรยานยนต์) รวมทั้งการซ่อมแซมของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน
•รองลงมาประมาณร้อยละ 28.8 เป็นสถานประกอบการเกี่ยวกับการผลิต
•ร้อยละ 9.1 เป็นสถานประกอบการที่ดำเนินการเกี่ยวกับโรงแรมและภัตตาคาร
•การขาย การบำรุงรักษาและการซ่อมแซมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.4
ส่วนรูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมายของสถานประกอบการนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศพบว่า
-ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.7 มีรูปแบบเป็นส่วนบุคคล(บุคคล)
-รองลงมาเป็นสถานประกอบการที่มีรูปแบบเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ร้อยละ 1.6
-รูปแบบอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน มูลนิธิ สมาคม ฯลฯ มีร้อยละ 1.6
-ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและสหกรณ์ มีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 1.0
โดยสถานประกอบการ 1,132,424 แห่งมีการจ้างงาน 4,514,410 คน

ธุรกิจครอบครัวมีความหมายอย่างไร
ธุรกิจครอบครัว (Family Business) จะว่าไปแล้วเป็นคำที่คุ้ยเคยกันมาก เพราะมนุษย์เราทุกคนต่างเริ่มต้นลืมตาอ้าปากออกมายืนบนโลกใบนี้ได้ล้วนแล้วมีจุดกำเนิดที่ครอบครัวเหมือนกันทุกคน
แต่นิยามคำว่า ธุรกิจครอบครัวยากมากเพราะว่าขอบเขตของธุรกิจครอบครัวกว้างมากตั้งแต่ร้านขายของเล็กๆ ไปจนถึงระดับองค์กรที่ควบคุมโดยครอบครัว
Mustakallio (2002) สรุปว่าธุรกิจครอบครัวจะเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
(1)ธุรกิจครอบครัวมีความหมายที่อ้างถึงความเป็นเจ้าของของครอบครัวหรือากรควบคุมโดยเจ้าของ
(2)อ้างถึงการเกี่ยวข้องของครอบครัวในการจัดการบริษัท
(3)อธิบายเกี่ยวกับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
(4)และสุดท้ายให้ความหมายเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายของบริษัทและการตัดสินใจทางกลยุทธ
ผู้เขียนได้ให้ความหมายของธุรกิจครอบครัวในงานวิจัย “เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย” (ดนัย เทียนพุฒ, 2552) ตามนิยามของ Ward (2005) ว่า
“ธุรกิจครอบครัวเป็นกิจการที่มีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีการจัดการและการควบคุม และมีวิวัฒนาการของครอบครัวเป็นสิ่งกำหนดความซับซ้อนและการเติบโตของธุรกิจครอบครัว”
ท่านอยากรู้ไหมว่า อัตราการเกิดและตายของธุรกิจที่ก่อตั้งใหม่และดำเนินไปได้ยาวนานแค่ไหนโดยเฉพาะธุรกิจในประเทศไทย ผู้เขียนมีการวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้ว อ่านได้ที่ "ธุรกิจครอบครัวไทยมีโอกาสรอดขนาดไหน"
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ

ไอเดียธุรกิจ โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

เรื่องราวของการสร้างธุรกิจหรือวิธีการคิดเพื่อจัดตั้งกิจการ หรือเริ่มต้นหาโอกาสลงทุนในกิจการต่างๆ บางครั้งก็ดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่แน่นักในอาชีพ เช่น ลูกจ้าง/พนักงานมืออาชีพที่จะออกมาเริ่มต้นธุรกิจซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ยากหรือบางครั้งแทบดูจะเหมือนเป็นไปไม่ได้
ผู้เขียนมีเพื่อนดำเนินธุรกิจร้านทอง-เพชร ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวแล้วตกทอดมาถึงรุ่นเพื่อน และได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงการเข้ามาสู่ธุรกิจร้านทอง-เพชร พอคุยกันลึกๆ แล้ว

*ไม่ใช่ใครก็ได้ที่มีเงินแล้วคิดอยากจะมาทำธุรกิจนี้ก็จะประสบความสำเร็จ
*คิดว่ามาลองดูสักครั้งเห็นท่าไม่ดีก็จะได้ถอย แต่เอาเข้าจริงอาจหมดตัวได้
*คุณภาพของทอง-เพชร รวมถึงช่างทองหรือเทคนิคต่างๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเปิดเผยกันให้คนนอกวงการรู้ รวมถึงเทคนิคที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลหรือทุจริต ดูเหมือนแทบจะเป็น “เคล็ดลับในความสำเร็จของธุรกิจนี้โดยตรง”

ดังนั้นการที่คิดจะทำธุรกิจจึงเป็นทั้งเรื่องที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ในความคิดของผู้เขียนการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเกินความสามารถในตัวเราเป็นแน่แท้


ประสบการณ์ในการเริ่มธุรกิจ

ถ้าจะพูดกันจริงๆ โดยพื้นฐานของผู้เขียนไม่ใช่มาจากครอบครัวของพ่อค้า แต่มาจากครอบครัวของเกษตรกรและข้าราชการดังนั้นแนวคิดในการทำธุรกิจสมัยเด็กๆ จึงไม่มี ครั้นเมื่อผู้เขียนมาเรียนในระดับมหา’ลัยได้เจอเพื่อน รุ่นพี่ในมหา’ลัยจึงเริ่มเห็นช่องทางที่จะสร้างรายได้ในระหว่างที่ร่ำเรียน แม้ว่าโดยสภาพจริงๆ ผู้เขียนไม่ได้ขัดสนหรือมีความจำเป็นแต่อย่างใด อาทิ

*การสมัครเข้าช่วยงานประเภทต่างๆ ซึ่งมหา’ลัยเปิดโอกาสให้นักศึกษาหารายได้เป็นเงินค่าเล่าเรียนทางการศึกษา
*วิชาความรู้ที่ผู้เขียนเรียนในขณะนั้นคือ วิชาคณิตศาสตร์ซึ่งได้เห็นรุ่นพี่ๆ ใน มหา’ลัยสามารถ “ติวเข้ม” ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงระดับมหา’ลัยและมีรายได้พิเศษที่สูงมากทีเดียว
*ยังพบอีกว่าการเขียนบทความในหนังสือต่างๆ สามารถที่จะมีรายได้จากค่าตอบแทนในเรื่องที่เราเขียนได้อีกด้วย
ตัวอย่างข้างต้นเป็นประสบการณ์ตรงที่ดีของผู้เขียนที่ได้เรียนรู้วิชาหารายได้พิเศษในขณะที่ร่ำเรียนในมหา’ลัย จนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งในชั้นปีที่ 3 ผู้เขียนได้ร่วมทุนกับเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกันและสุมหัวคิดกันว่า
*ในทุกๆ ปีจะมีประกาศผลสอบเข้ามหา’ลัยหรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “ผลเอนทรานซ์” และจะมีน้องๆ นักเรียนมาดูผลสอบกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน เราน่าจะทำอะไรจากตรงนี้ได้บ้าง (วิเคราะห์และค้นหาโอกาสทางธุรกิจ)
*พวกเราได้ระดมทุนกันพร้อมกับไปยืมเงินท่านอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งในขณะนั้น (ศ.ดร.ลมุล รัตตากร) และก็ขอยืมโต๊ะจากภารโรง (ผู้มีอำนาจเต็มของมหา’ลัย) จัดแจงวางแผนผังที่ตั้ง (กำหนดสถานที่หรือช่องทางจำหน่าย)
*พร้อมกันนั้นผู้เขียนได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบว่า ใครจะต้องทำอะไร เช่น ใครจะปิ้งลูกชิ้น ใครจะติดต่อขอซื้อน้ำอัดลม จะเอาแก้วแบบไหน จะหาน้ำแข็งที่ใดดี ใครจะเป็นคนควบคุมเงินตอนซื้อขาย และใครจะทำหน้าที่ชักชวนลูกค้า (เป็นพรีเซ็นเตอร์) สุดท้ายจริงๆ คือ ถ้าขายดีจะส่งกำลังบำรุงกันอย่างไร (หาสินค้าและผลิตภัณฑ์มาเพิ่มเติม)

ทั้งหมดนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวของผู้เขียนและเพื่อนๆ ซึ่งบางคนก็อยู่ในครอบครัวค้าขายหรือที่เรียกกันว่าธุรกิจ SMEs ในปัจจุบัน จะมีก็แต่ผู้เขียนเท่านั้นที่ดูจะถนัดในเชิงของวางแผน วางกลยุทธและจัดการทั้งหมดตามที่เล่ามา แต่ก็ไม่ได้เคยร่ำเรียนในสิ่งเหล่านี้มาก่อน จะมีเพียงแต่ “ครูพักลักจำ” เป็นหลักเสียมากกว่า
แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้รับคือ ความภาคภูมิใจที่ทำธุรกิจเล็กๆ โดยไม่มีอะไรมากมายและก็สร้างรายได้พอสมควร เหลือเงินและก็คืนเงินทุนให้ทุกๆ คน ขณะเดียวกันก็สร้างให้กลุ่มนักการภารโรงของมหา’ลัยได้เห็นโอกาสทางธุรกิจจากการประกาศผลสองเอนทรานซ์ในปีถัดไป

การเริ่มทำธุรกิจจริงๆ
อาศัยจากการที่ผู้เขียนเห็นโอกาสและช่องทางจากการนำความรู้หรือสิ่งที่ผู้เขียนถนัดคือ เรื่องของการชอบอ่านและเขียนจึงได้ทดลองเขียนบทความและก็ส่งไปตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในขณะนั้น

*ผลคือ ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นกำลังใจและน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงให้กับผู้เขียนได้คิดที่จะเขียนบทความทางวิชาการให้เป็นแบบเอาจริงเอาจัง
*ได้รับคำแนะนำจากผู้ใกล้ชิดและเพื่อนฝูงให้พยายามปรับเนื้อหาให้อ่านได้ทั่วไปมากขึ้น อย่าเป็นวิชาการที่แข็งมากนัก
*หลังจากที่มีการปรับปรุงด้านการเขียนบทความวิชาการทั้งด้านธุรกิจ การบริหารคนและในขอบเขตที่ผู้เขียนสนใจจนกระทั่งพอจะรวมเป็นเล่มจัดพิมพ์ได้

ผู้เขียนได้ลองจัดทำต้นฉบับหนังสือขึ้นมาและไปติดต่อที่สำนักพิมพ์เพื่อเสนอให้พิมพ์หนังสือของผู้เขียน และก็มีสำนักพิมพ์ตอบตกลงที่จะพิมพ์หนังสือเล่มแรกของผู้เขียนคือ หนังสือนักบริหารมืออาชีพ ที่จัดพิมพ์โดย “ห้างโอเดียนบุ๊คสโตร์”
สิ่งนี้เป็น สะพานเชื่อมต่อ “ดอกผลทางปัญญาไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นการสร้างสรรค์ค์ปัญญาให้สังคม” และในปัจจุบันผู้เขียนมีหนังสือหลายเล่มที่จัดจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งด้านจัดการกลยุทธ เช่น “Balanced Scorecard” และ “KPIs” “การบริหารทรัพยากรมนุษย์” “ความสามารถและค่าตอบแทนตามผลสำเร็จ” เป็นต้น

ฉะนั้น “ไอเดียธุรกิจ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแต่เราจับ “ไอเดียธุรกิจ” มาสร้างเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” และนำสู่ “การดำเนินธุรกิจ” ได้อย่างจริงๆ จังหรือไม่เท่านั้น ลองดูซิครับ! มีไอเดียธุรกิจอยู่รอบตัวท่านจริงๆ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut

ธุรกิจครอบครัวไทยมีโอกาสรอดขนาดไหน? โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ


เรื่องราวของธุรกิจครอบครัวไืทยเป็นที่สนใจมากเพราะการศึกษาและข้อมูลด้านนี้มีน้อย หรือมีการศึกษาก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์ให้กับธุรกิจครอบครัวได้
ผู้เขียนได้ศึกษาถึงการรอดและการตายของธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ในอดีตจนถึงปี 2550 มีอัตรารอดที่น่าสนใจ พร้อมทั้งได้นำโมเดลคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการไทย ที่ได้มาจากการวิจัย"เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย" มาเสนอเป็นทางรอดของธุรกิจครอบครัวไทยไว้ด้วย

ธุรกิจครอบครัว:จุดเริ่มที่น่าสนใจ โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจที่เป็นธุรกิจคนไทย มักจะพูดว่า
......เราจะพยายามปรับธุรกิจครอบครัวให้เป็นธุรกิจมืออาชีพ
......ถึงแม้ว่าเราจะเป็นธุรกิจครอบครัว แต่เราได้ว่าจ้างให้มี “มืออาชีพ” เข้ามาร่วมงานในตำแหน่ง “ผู้บริหารระดับสูง”
......หรือแม้กระทั่งว่า “ครอบครัวเราบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ”
ขณะเดียวกัน ข่าวคราวของธุรกิจครอบครัวที่สำเร็จก็มี ที่ล้มหายตายจากไปก็มีเช่นกัน
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ทำงานกับ “ธุรกิจครอบครัว” โดยเฉพาะเมื่อเข้าทำงานในตำแหน่ง “หัวหน้าศูนย์พัฒนาบุคลากร” ธนาคารนครธน (บมจ. ธนาคารนครธน)
“พอเข้ารับฟังการอบรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ จึงได้รู้ว่า ธนาคารนครธนชื่อเดิมคือ ธนาคารหวั่งหลีจั่น กลุ่มตระกูลที่บริหารเป็น ตระกูลหวั่งหลี ซึ่งจัดตั้งธนาคารขึ้นในปี 2476 (เป็นธนาคารของชาวจีนที่จดทะเบียนในประเทศไทย)
ปีที่ผู้เขียนเข้าร่วมงานในปี พ.ศ.2533 มีคุณสุวิทย์ หวั่งหลีเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคุณวรวีร์ หวั่งหลีเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
การทำงานกับธุรกิจครอบครัว มีความรู้สึกที่จับได้อย่างคือ
- อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่ผู้นำตระกูลซึ่งมีตำแหน่งสูงสุดในองค์กร
- ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในองค์กรจะต้องมีระบบที่สามารถสื่อสารไปถึงผู้นำสูงสุดขององค์กร
- ผู้เขียนรายงานขึ้นตรงกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จึงได้รับความเกรงใจจากหน่วยงานอื่นๆ
ถามว่า ธนาคารนครธนมีวิธีดำเนินกิจการแบบมืออาชีพไหม หลายๆ อย่างผู้เขียนเห็นว่าเป็น “แบบมืออาชีพ” และหลายๆ อย่างยังเป็น “แบบครอบครัว”
การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินในปี 2539 ของประเทศไทย ทำให้ธนาคารนครธนได้ถูกธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ ธนาคารนครธนจึงได้หายไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า กรณีนี้เป็นเพราะธุรกิจครอบครัว”ไม่ได้บริหารแบบมืออาชีพ” ใช่หรือไม่ เพราะหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์ไทยเปลี่ยนมือไปเป็นผู้ถือหุ้นทั้งจากประเทศในเอเซียและชาติตะวันตก
เมื่อผู้เขียนถูกเชิญให้ไปบรรยายให้กับสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงได้เริ่มสนใจธุรกิจ SMEs อย่างจริงจัง
แต่ก็พบว่า วิธีการที่หน่วยงานต่างๆ พยายามพัฒนาธุรกิจ SMEs นั้นไม่น่าจะบรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้มากมายเท่าใดนัก ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้
ความเชื่ออย่างแรก! น่าจะเป็นเพราะธุรกิจ SMEs ยังบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพไม่ได้
จริงหรือไม่คงต้องพิสูจน์กันต่อไป
ความจริงเริ่มกระจ่าง!
ในช่วงที่ผู้เขียนเรียนในระดับปริญญาเอกด้านการจัดการธุรกิจ มีเพื่อนผู้เขียนท่านหนึ่งสนใจทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวในธุรกิจร้านค้าทองของประเทศไทย
- เราได้มีโอกาสพูดคุยกันหลายๆ ครั้งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว (Family Business)
- เพื่อนของผู้เขียน (ดร.สันติ สุวัณณาคาร) ได้ให้เอกสารและหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวของต่างประเทศกับผู้เขียนเพื่อศึกษาเป็นจำนวนหลายๆ เล่มโดยเฉพาะของ Ward ซึ่งเป็นกูรูด้านนี้ของโลก
หลังจากที่ได้อ่านหนังสือของ Ward โดยเฉพาะเล่มที่ว่าด้วย Unconventional Wisdom
จึงพบประเด็นที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว
(1) ธุรกิจในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อนหรือยังเป็นอยู่
(2) ธุรกิจครอบครัวมีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ต้องการศึกษาและทำความเข้าใจ ไม่ใช่นำโนว์ฮาว์ที่มีอยู่ดาษดื่นเข้ามาใช้ได้โดยตรง
(3) ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีรูปแบบโมเดลและวิธีการสืบทอดธุรกิจ ซึ่งจะเป็นคนละแบบกับบริษัทหรือธุรกิจทั่วๆ ไป
ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนสนใจและศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งมี DNA และรหัสลับ ซึ่งผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟังครับ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ

งานวิจัยเรื่อง เจาะ ดี เอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทย

ย้อนความถึง "ที่ไปและที่มาของจุดเริ่มต้นในการศึกษาธุรกิจครอบครัวไทย" ในตอนที่กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกอยู่นั้น เพื่อผู้เขียนท่านหนึ่ง(คุณสันติ สุวรรณาคาร-ประมาณปี 47-48 : ปัจุบันสำเร็จการศึกษาแล้ว) ได้เล่าให้ฟังว่ากำลังเขียนดุษฎีนิพนธ์เรื่อง ธุรกิจครอบครัวไทยในธุรกิจร้านทองว่าจะมีแนวทางหรือโมเดลที่จะส่งต่อธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร
ผู้เขียนนึกอยู่ในขณะนั้นว่าไม่เห็นจะน่าสนใจมากนักแต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ซึ่งหลังจากนั้นได้ลองกลับไปดูบทความเก่า ๆ ที่เคยเขียนไว้ ปรากฎว่าได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับเถ้าแก่ และธุรกิจ SMEs ไว้พอสมควร ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน และก็บรรยายเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs และคลุกคลีกับผู้ประกอบการอยู่เป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดทำกลยุทธและการบริหารHR ให้กับกลุ่มบริษัท ดัชมิลล์ ซึ่งเป็น มีผู้จัดจำหน่ายเป็นธุรกิจครอบครัวเช่นกัน
หลังจากนั้นได้มีโอกาสสนทนาเป็นระยะกับเพื่อนที่ทำเรื่องนี้จนถึงขั้นขอยืมเอกสาร และหนังสือไปอ่านซึ่งน่าสนใจมากว่าในต่างประเทศนั้น
-มีสถาบัน ที่ค้นคว้าแ ละศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว
-มีการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาด้านธุรกิจครอบครัว
-มีเ ครือข่ายด้านนี้ทั่วโลกและให้ความสนใจกันมากในหลาย ๆ ประเทศในเอเซีย
ขณะที่ในประเทศไทยไม่มีองค์กรเหล่านี้เลย และเพื่อน-คุณสันติในขณะที่เรียนด้วยกัน บอกว่า พี่ศึกษาเถอะน่าสนใจมาก ทั้งหมดนั้นทำให้ผู้เขียน ปัดปุ่นโครงการวิจัยที่ทำไว้แต่ยังไม่ได้สรุปผลการวิเคราะห์อย่างลงตัวเพราะ ผลัดมาอยู่ตลอดเวลา
จึงจุดประกายการวิจัยเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจนัก


ชื่อเรื่อง การวิจัยเรื่อง เจาะ ดี เอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทย

ผู้วิจัย : ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
email:DrDanaiT@gmail.com
ปีที่ทำเสร็จ : ปีพ.ศ.2551 (พิมพ์เผยแพร่ปีพ.ศ.2552)

ประเด็นปัญหาการวิจัย
RESEARCH ISSUES

“คุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการคือ รากฐานของธุรกิจครอบครัว”
ธุรกิจส่วนใหญ่ในโลกนี้ถือกำเนิดมาจากธุรกิจครอบครัว (Family Business: FB) ไม่ว่าจะเรียกชื่อไปอย่างไร อาทิ วิสาหกิจชุมชนธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่หรือขยายกิจการให้เติบโตเพียงใดธุรกิจดังกล่าวยังคงจะมีความเป็นครอบครัวไว้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยที่มิอาจ
หลีกเลี่ยงได้
Ward & Others (2005) ได้ศึกษาว่าธุรกิจครอบครัวมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นตามวัฎชีวิตธุรกิจ โดยเริ่มต้นขยายตัวเติบโตและถดถอย
และความสำเร็จในการจัดการธุรกิจครอบครัวไทย (Thai Family Business) ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ล้วนมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในด้านการลงทุน การจัดการและทุกขอบเขตของธุรกิจ แต่การศึกษาถึงแก่นแท้ (DNA) หรือประเด็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) โมเดลธุรกิจครอบครัว (Family Business Model) และการสืบทอดธุรกิจ (Business Succession) ขาดการ ศึกษาและค้นคว้าอย่างลึกซึ้งในบริบทของธุรกิจไทย
ธุรกิจครอบครัวไทยจึงควรที่จะมีการศึกษา กำหนดหรือพัฒนารูปแบบให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง รวมถึงการที่จะสามารถออกไปแข่งขันในเวทีโลกโดยสร้างมูลค่า-เพิ่มให้กับธุรกิจ สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาอยู่ 3 วัตถุประสงค์คือ
1) การศึกษาเพื่อค้นหาองค์ประกอบหรือคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการ
2) การสังเคราะห์ดี เอ็น เอ โมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทยจากรุ่นสู่รุ่น
3) นำเสนอต้นแบบของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคตที่เป็นองค์ความรู้ในบริบทของสังคมและเศรษฐกิจไทย

กรอบแนวคิดในการวิจัย ผู้วิจัยได้มีการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยว-ข้อง สามารถกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัยเจาะดี เอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทยได้ดังภาพที่ 1-1

ภาพที่ 1-1 : กรอบแนวคิดในการวิจัยเจาะดี เอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทย






สิ่งที่เป็นประเด็นคำถามในการวิจัย ผู้วิจัยเกิดคำถามในการวิจัยภายหลังจากที่ได้มีการทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
คำถามที่ 1 ธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งธุรกิจจะต้องมีคุณลักษณะความ-สามารถของผู้ประกอบการอะไรเป็นพื้นฐานสำคัญ
ดังนั้นธุรกิจครอบครัวไทยจะมีองค์ประกอบหรือคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการที่สำคัญอะไรบ้าง และจะมีองค์ประกอบย่อยหรือรายการความสามารถอะไรที่อธิบายองค์ประกอบของผู้ประกอบการ
คำถามที่ 2 ธุรกิจครอบครัวไทยจะมีการพัฒนาโมเดลของธุรกิจครอบครัวสู่ความสำเร็จในรูปแบบใด และมีสิ่งใดที่เป็นดี เอ็น เอ (DNA) หรือองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งกำหนดความเป็นไปได้ในการพัฒนาโมเดลของธุรกิจครอบครัวไทย
คำถามที่ 3 ถ้าธุรกิจครอบครัวไทยจะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จในอนาคต จะต้องกำหนดรูปแบบหรือโมเดลในการสืบทอดธุรกิจรูปแบบใดที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้
สมมติฐานในการวิจัย ผู้วิจัยได้กำหนดสมมติฐานในการวิจัยครั้งนี้คือ
1) สมมติฐานแรกของการวิจัย กรอบคุณลักษณะความสามารถของผู้-ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ จะมีอยู่ 6 คุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการคือ (1) ความสามารถด้านวิสัยทัศน์ธุรกิจ (2) ความสามารถด้านไฮเปอร์ (3) ความสามารถด้านการพัฒนาทีมธุรกิจ (4) ความสามารถด้านทักษะการบริหาร (5) ความสามารถด้านนวัตกรรมและ (6) ความสามารถด้านคุณลักษณะแห่งตน
2) สมมติฐานการวิจัยที่ 2.1 โมเดลสู่ความสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย ควรจะมีโมเดลการพัฒนาธุรกิจครอบครัวอย่างน้อย 3 แกน ซึ่งประกอบด้วยแกนความเป็นเจ้าของ (Ownership Axis) แกนครอบครัว (Family Axis) และแกนธุรกิจ (Busines Axis)
3) สมมติฐานการวิจัยที่ 2.2 ธุรกิจครอบครัวไทยจะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จในอนาคตจะสามารถกำหนดรูปแบบหรือโมเดลในการสืบทอดธุรกิจด้วยรูปแบบเมทริกซ์ระยะของผู้สืบทอดธุรกิจที่ประกอบด้วยระยะที่ 1 การปฏิบัติ (The Do Phase) ระยะที่ 2 การชี้นำสู่การ-ปฏิบัติ (The Lead to Do Phase) และระยะที่ 3 การอนุญาตให้ปฏิบัติ (The Let Do Phase)
รูปแบบการวิจัย เป็นรูปแบบของวิจัยผสม (Mixed Model) ทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) รวมทั้งยังทำการศึกษาในลักษณะของภาพตัดขวาง (Cross-Section Study) โดยการศึกษาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 ถึงพฤศจิกายน 2550 ประชากรในการวิจัย มีลักษณะเป็นผู้ประกอบการ ทั้งที่คิดจะเป็นผู้ประกอบการ ที่เป็นผู้ประกอบการอยู่และธุรกิจที่มีลักษณะความเป็นธุรกิจครอบครัว โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เครือข่าย (Social NetworkAnalysis : SNA) มากำหนดกรอบของกลุ่มตัวอย่างให้มีลักษณะความเป็นเอกพันธ์ (Homogeneous) กลุ่มตัวอย่างในช่วงที่ 1 ปี 2545-2546 เป็นผู้ประกอบการจำนวน 129 คน ช่วงที่ 2 ปี 2550 จำนวนทั้งสิ้น 165 คน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสปา จำนวน 52 คน กลุ่มนักศึกษา MBA ที่เรียนวิชาบริหารกลยุทธและความเป็นผู้ประกอบการ จำนวน 56 คน และกลุ่มสมาชิกชุมชนออนไลน์www.okanation.net ที่เข้ามาโหวตคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการ จำนวน 53 คนและกลุ่มอื่น จำนวน 4 คน รวมทั้งสิ้น 294 คน
วิธีดำเนินการศึกษา ผู้วิจัยได้แบ่งลักษณะการวิจัยออกเป็น 3 ส่วน เพื่อสามารถดำเนินการได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย
ในส่วนแรก การศึกษาเพื่อค้นหาองค์ประกอบหรือคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการ ได้สร้างแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณ-ลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบด้วย การสอบถามข้อมูลเบื้องต้นในเรื่อง ประเภทกิจการ จำนวนพนักงาน สินค้าที่ขาย/ให้บริการและยอดขายทั้งปี และรายการประเมินความสามารถของผู้ประกอบการใน 6 ด้านคือ ความสามารถด้านวิสัยทัศน์ธุรกิจความสามารถด้านไฮเปอร์ (High-Performance) ความสามารถด้านการพัฒนาทีมธุรกิจ ความสามารถด้านทักษะการบริหาร ความสามารถ ด้านนวัตกรรม และความสามารถด้านคุณลักษณะแห่งตน (Personal Attributes) มีคำถามทั้งหมด 19 รายการประเมิน เป็นแบบมาตรส่วนประมาณค่า 5 ตัวเลือก ได้มีการทดลองใช้ (Try-Out) กับผู้ประกอบการ ที่เข้าอบรมในหลักสูตรด้านการพัฒนากลยุทธธุรกิจ SMEs จัดโดยสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวน 20 คน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีค่าความเชื่อถือได้ ( ) ของแบบสอบถามเท่ากับ 0.923
ในส่วนที่สอง การสังเคราะห์ดีเอ็นเอ โมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทยจากรุ่นสู่รุ่น ใช้วิธีการวิเคราะห์เมต้าเนื้อหา (Meta-Content Analysis) ซึ่งประกอบด้วยการพิจารณาความสอดคล้องสัมพันธ์ (Relevancy) ในกลุ่มเอกสารแต่ละกลุ่ม และการพิจารณา
ความเป็นเอกฉันท์ (Concurrence) ของการวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมดของเอกสาร หนังสือ บทความ งานวิจัย รวมถึงข้อมูลออนไลน์จากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในช่วงปี 1990-ปี2008
ส่วนที่สาม การสังเคราะห์เพื่อนำเสนอต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคตที่เป็นองค์ความรู้ในบริบทของสังคมและเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการสังเคราะห์เมต้าเนื้อหาในส่วนที่ 2
ประโยชน์ที่จะได้รับ การวิจัยครั้งเป็นถือเป็นการบุกเบิกในองค์ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งยังไม่มีการศึกษาในลักษณะเช่นนี้มาก่อนซึ่งจะก่อให้เกิด
(1) เข้าใจเกี่ยวกับบริบทและองค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของธุรกิจครอบครัวไทยที่จะสามารถนำไปศึกษาต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทและสังคมไทยมากยิ่งขึ้น
(2) การพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทย ด้วยคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการ การพัฒนาโมเดลของธุรกิจครอบครัวไทยจากรุ่นสู่รุ่นจะช่วยให้มีรูปแบบที่ชัดเจนสำหรับผู้ที่ประสงค์จะก่อตั้งธุรกิจครอบครัวและการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไปในระยะยาว
(3) การพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับวิชาผู้ประกอบการ วิชาการวางแผนกลยุทธสำหรับธุรกิจครอบครัว และวิชานวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการที่จะสามารถใช้ผลจากการวิจัยไปเป็นตัวตั้งต่อการปรับเนื้อหาหลักสูตรและการสอนให้สอดคล้องกับธุรกิจครอบครัวไทยหรือพัฒนาการเรียนการสอนให้นำไปสู่การปฏิบัติได้
ข้อจำกัดในการวิจัย การพัฒนาโมเดลของธุรกิจครอบครัวไทยจากรุ่นสู่รุ่นเป็นพาราไดม์ที่สังเคราะห์ขึ้น ดังนั้นการนำไปใช้ควรมีการพิจารณาให้สอดคล้องกับบริบท รูปแบบ ขนาดและวัฒนธรรมของธุรกิจครอบครัวนั้นๆ


บทความสรุปผลการวิจัย .... เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย

VDO-Blog ...การสร้างธุรกิจใหม่

สวัสดีครับ Blog Talk กับ ดร.ดนัย เทียนพุฒ วันนี้จะคุยเรื่องการสร้างธุรกิจใหม่ ( Creating a New Business)
เรามักจะเห็นมีโฆษณาตามหน้า นสพ. ให้นศ. ส่งแผนธุรกิจเข้าชิงรางวัล ซึ่งมองในเชิงการเรียนรู้ก็น่าสนใจดีครับ
แต่มองในเชิงธุรกิจ ไม่รู้ว่าที่ชนะเลิศได้รางวัลนั้น มีออกไปทำธุรกิจจริง ๆ ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

รูปแบบจำลองหรือโมเดลการสร้างธุรกิจใหม่



..ติดตามรับชมรับฟังโดย คลิกเพื่อรับชม Blog Talk ได้ครับ






สรุป : 1.แผนธุรกิจตามที่ นศ.สร้างขึ้นนั้นไม่ค่อยชัดเจนนักในเรื่องของโมเดลธุรกิจ
2. ความจริงน่าจะจดสิทธิบัตรก่อน เพราะ การจดสิทธิบัตรจะต้องทำต้นแบบที่ใช้ได้จริงๆ
3.อาจต้องมี Business Incubator เข้ามาสนับสนุนให้สามารถทำธุรกิจได้จริงๆ มากกว่าที่จะมีแค่หน่วยงานสนับสนุนการอบรม หรือ แหล่งสนับสนุนเงินทุน
! !! จะน่าสนใจมากครับหากสามารถสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่แล้วดำเนินกิจการจนประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com

เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย

สนใจดูรายละเอียดของสารบัญหนังสือเล่มนี้ได้ที่ http://dntbook.blogspot.com/2008/08/breakthrough-thai-family-businesses-dna.html หรือติดต่อโครงการ Human Capital โทร 029395643, 029301133 ...


เป็นที่ทราบกันดีหรือพูดกันอยู่ตลอดเวลาในโลกธุรกิจว่าธุรกิจเกือบทุกประเภทนั้นเริ่มต้นหรือมีจุดกำเนิดมาจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) และที่สำคัญยิ่งคือ ธุรกิจครอบครัวถือเป็นพลวัตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

เราได้เห็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ เช่น Ford, Nike, Sony, Samsung เหล่านี้มีกำเนิดมาจากธุรกิจครอบครัวเป็นหลักหรือแม้แต่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัลเหล่านี้ยังมีความเป็นธุรกิจครอบครัวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
ความสนใจของผู้เขียนในการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวไทยนั้นมีผลสะท้อนมาจาก
“การส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ได้มีโอกาสประสบความสำเร็จโดยการผลักดันให้ธุรกิจก้าวจากธุรกิจเล็กๆ กิจการเจ้าของคนเดียวไปสู่กิจการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น มหาบรรษัทครอบครัว (Family Conglomerates) ต่างๆ นั้น กลุ่มที่อยู่รอดมักต้องอิงอำนาจรัฐหรือมีอำนาจเหนือรัฐหรือไม่ต้องร่วมทุนกับต่างชาติ” (ผาสุก พงศ์ไพจิตรและคณะ, 2549)

ผลจากสิ่งที่กล่าวไว้นี้สะท้อนให้เห็นถึง ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการที่ขาดซึ่งความเข้าใจและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ อาทิ

1)ความเข้าใจในแก่นแท้ของธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะเมื่อกิจการนั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งหมายถึง การเป็นกิจการของสาธารณะ
2)ธุรกิจจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ถามว่าธุรกิจนั้นได้ทำอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ธุรกิจต้องถามว่าได้ทำอะไรให้กับลูกค้า ประชาชน สังคมและประเทศนั้นคุ้มค่าเงินหรือไม่ต่างหาก

การสร้างเมล็ดพันธ์แห่งปัญญา

ถ้าถามว่าธุรกิจครอบครัวไทยที่ประสบความสำเร็จจะมีคุณลักษณะความ-สามารถของผู้ประกอบการในรูปแบบหรือโมเดลอย่างไร โมเดลการบริหารธุรกิจครอบครัวไทยและการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นจะมีวิธีการหรือพาราไดม์อย่างไร ทำกันมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากหรือต้องการคำตอบในรูปแบบที่มีการศึกษาอย่างถูกหลักวิชามากกว่าที่จะเป็นเกร็ด คำบอกเล่า เรื่องราวจากคอลัมนิสต์หรือเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น

สิ่งที่เป็นคำถามและประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไทยคือ

คุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการไทยแบบใดจึงจะนำไปสู่การเป็นธุรกิจครอบครัวไทย เพราะมีการเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการ (Entre-preneurship) กันค่อนข้างมาก แต่มักจะเป็นการศึกษาและเรียนรู้ตามตำราของฝรั่งเป็นหลักใหญ่ใจความ จึงน่าสนใจว่าธุรกิจครอบครัวไทยที่ผู้ก่อตั้ง (Founder) เริ่มขึ้นมานั้นควรจะมีคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการแบบใด

ต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทยสู่ความสำเร็จ สิ่งที่ผู้เขียนสนใจหรือเป็นคำถามต่อมาคือ ธุรกิจครอบครัวไทยตั้งแต่ในอดีตหรือยุคสุโขทัยจนถึงยุครัตนโกสินทร์มีวิวัฒนาการการค้าในประเทศเป็นอย่างไร มีโมเดลหรือรูปแบบธุรกิจครอบครัวไทยที่จะสามารถสังเคราะห์เป็นต้นแบบ (Prototype) รูปแบบความสำเร็จในอนาคตหรือไม่ ขณะเดียวกันมีธุรกิจครอบครัวไทยใดที่จะสามารถใช้เป็น “ตัวอย่างสู่ความสำเร็จได้บ้าง”หรือ “ใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการเรียนรู้สู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทยทั้งปัจจุบันและในอนาคต
และโดยเฉพาะในบริบทของสภาพสังคมเศรษฐกิจแบบไทยมีเงื่อนไขหรือข้อเด่นอะไรหรือ DNA รูปแบบใดที่จะเป็นสิ่งกำหนดความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปสู่อนาคต

ผู้เขียนต้องการที่จะตอบข้อสงสัยหรือคำถามที่เป็นประเด็นน่าสนใจข้างต้นโดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์หลักของการวิจัยเจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทยคือ
ประการแรก ต้องการศึกษาเพื่อค้นหาองค์ประกอบหรือคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการ
ประการที่สอง ต้องการสังเคราะห์ดีเอ็นเอโมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทยจากรุ่นสู่รุ่น

เราจะเริ่มจากที่ใด

ในขั้นแรกเมื่อผู้เขียนมีประเด็นข้อสงสัยที่นำไปสู่ข้อสรุปทางความคิดภายหลังจากที่ได้มีการศึกษาและทบทวนวรรณกรรมทั้งเอกสารบทความและงานวิจัยที่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ได้จำลองเป็นกรอบความคิดในชั้นแรกไว้ดังรูป

รูปที่ 1 : กรอบความคิดในการวิจัยเจาะดีเอ็นเอ ธุรกิจครอบครัวไทย



รูปแบบการวิจัยและการศึกษา

รูปแบบของการวิจัยเป็นแบบผสม (Mixed Model) ทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณรวมทั้งยังทำการศึกษาในลักษณะของภาพตัดขวาง (Cross-Section Study) โดยการศึกษาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2550 ประชากรในการวิจัยมีลักษณะเป็นผู้ประกอบการทั้งที่คิดจะเป็น ที่เป็นอยู่และธุรกิจที่มีลักษณะความเป็นธุรกิจครอบครัว โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เครือข่าย (Social Network Analysis) มากำหนดกรอบของกลุ่มตัวอย่างให้มีลักษณะเป็นเอกพันธ์
กลุ่มตัวอย่างในช่วงแรกปี 2545-2546 เป็นผู้ประกอบการ 129 คน ช่วงที่ 2 ปี 2550 จำนวน 165 คน เป็นผู้ประกอบการธุรกิจสปา 52 คน กลุ่มนักศึกษา MBA ที่เรียนวิชา บริหารกลยุทธและความเป็นผู้ประกอบการ 56 คนและสมาชิกชุมชนออนไลน์ www.oknation.netที่เข้ามาโหวต 53 คนอื่นๆ 4 คน รวมทั้งสิ้น 294 คน และการศึกษาได้ดำเนินการตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ข้างต้น


สรุปผลผลิตทางปัญญา

รูปที่ 2 : ต้นแบบของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต (The 4D of Future Thai Business Prototype)



ต้นแบบของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต (The 4D of Future Thai Family Business Prototype)
ผลจากการวิจัยผู้เขียนได้สังเคราะห์ “ต้นแบบของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต” ไว้ดังรูปที่ 2 ซึ่งผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ดังนี้

มิติแรก DNA โมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทย จะประกอบด้วย 4 แกนหลักคือ แกนครอบครัว (Family Axis) แกนความเป็นเจ้าของ (Ownership Axis) แกนธุรกิจ (Business Axis) และแกนผู้ประกอบการ (Entrepreneur Axis) ดังรูปที่ 3

มิติที่สอง รูปแบบธุรกิจครอบครัวไทยในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ความเป็นโลกาภิวัฒน์ จะมีรูปแบบเริ่มตั้งแต่ 1) ธุรกิจจากอุตสาหกรรมในครัวเรือน (Cottage Industry) 2) ธุรกิจครอบครัวและซัพพลายเออร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialized Supplier Family Business) 3) ธุรกิจคอรบครัวที่เป็นแบบ OEM และ Partner (OEM & Partner Family Business) และ 4) ธุรกิจครอบครัวที่เป็นบรรษัทขนาดใหญ่ (Conglomerate Family Business)

มิติที่สาม ธุรกิจครอบครัวไทยในมิติทางสังคม-วัฒนธรรม (Socio-Culture Demession) ซึ่งต้องพิจารณาถึง 1) ความเป็นโลกาภิวัฒน์ 2) การใกล้ชิดถึงระยะของอำนาจ และ 3) ระบบคุณค่าของธุรกิจครอบครัว

รูปที่ 3 : DNA โมเดลสู่ความสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย



โดยที่ในแกนธุรกิจครอบครัวของมิติที่สามนี้จะมีโมเดล 6 คุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการอยู่ด้วย

มิติที่สี่ เมทริกซ์ระยะของผู้สืบทอดธุรกิจตาม 4 แกนหลักของโมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งมีอยู่ 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะที่ 1 การปฏิบัติ (The “Do” Phase) เป็นระยะเริ่มแรกของผู้สืบทอดธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจ
ระยะที่ 2 การชี้นำสู่การปฏิบัติ (the “Lead to Do” Phase) ผู้สืบทอดธุรกิจได้รับความผิดชอบสูงขึ้นและเลื่อนระดับ ตำแหน่ง
ระยะที่ 3 การอนุญาตให้ปฏิบัติ (The “Let Do” Phase) เป็นระยะที่อยู่ระหว่างช่วงอายุ 50-65 ปีของผู้สืบทอดธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะนำเสนอในแต่ละมิติอีกครั้งหนึ่งที่เป็นส่วนขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับในเบื้องต้นก็สามารถเห็นต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคตที่ปรากฏเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.นี้

Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNTConsultants Co.,Ltd.