Saturday, March 13, 2010

ธุรกิจครอบครัว:จุดเริ่มที่น่าสนใจ โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

สิ่งที่ผู้เขียนแปลกใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์เจ้าของธุรกิจที่เป็นธุรกิจคนไทย มักจะพูดว่า
......เราจะพยายามปรับธุรกิจครอบครัวให้เป็นธุรกิจมืออาชีพ
......ถึงแม้ว่าเราจะเป็นธุรกิจครอบครัว แต่เราได้ว่าจ้างให้มี “มืออาชีพ” เข้ามาร่วมงานในตำแหน่ง “ผู้บริหารระดับสูง”
......หรือแม้กระทั่งว่า “ครอบครัวเราบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ”
ขณะเดียวกัน ข่าวคราวของธุรกิจครอบครัวที่สำเร็จก็มี ที่ล้มหายตายจากไปก็มีเช่นกัน
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ทำงานกับ “ธุรกิจครอบครัว” โดยเฉพาะเมื่อเข้าทำงานในตำแหน่ง “หัวหน้าศูนย์พัฒนาบุคลากร” ธนาคารนครธน (บมจ. ธนาคารนครธน)
“พอเข้ารับฟังการอบรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่ จึงได้รู้ว่า ธนาคารนครธนชื่อเดิมคือ ธนาคารหวั่งหลีจั่น กลุ่มตระกูลที่บริหารเป็น ตระกูลหวั่งหลี ซึ่งจัดตั้งธนาคารขึ้นในปี 2476 (เป็นธนาคารของชาวจีนที่จดทะเบียนในประเทศไทย)
ปีที่ผู้เขียนเข้าร่วมงานในปี พ.ศ.2533 มีคุณสุวิทย์ หวั่งหลีเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและคุณวรวีร์ หวั่งหลีเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
การทำงานกับธุรกิจครอบครัว มีความรู้สึกที่จับได้อย่างคือ
- อำนาจการตัดสินใจทั้งหมดอยู่ที่ผู้นำตระกูลซึ่งมีตำแหน่งสูงสุดในองค์กร
- ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในองค์กรจะต้องมีระบบที่สามารถสื่อสารไปถึงผู้นำสูงสุดขององค์กร
- ผู้เขียนรายงานขึ้นตรงกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จึงได้รับความเกรงใจจากหน่วยงานอื่นๆ
ถามว่า ธนาคารนครธนมีวิธีดำเนินกิจการแบบมืออาชีพไหม หลายๆ อย่างผู้เขียนเห็นว่าเป็น “แบบมืออาชีพ” และหลายๆ อย่างยังเป็น “แบบครอบครัว”
การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจและสถาบันการเงินในปี 2539 ของประเทศไทย ทำให้ธนาคารนครธนได้ถูกธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ ธนาคารนครธนจึงได้หายไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า กรณีนี้เป็นเพราะธุรกิจครอบครัว”ไม่ได้บริหารแบบมืออาชีพ” ใช่หรือไม่ เพราะหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์ไทยเปลี่ยนมือไปเป็นผู้ถือหุ้นทั้งจากประเทศในเอเซียและชาติตะวันตก
เมื่อผู้เขียนถูกเชิญให้ไปบรรยายให้กับสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จึงได้เริ่มสนใจธุรกิจ SMEs อย่างจริงจัง
แต่ก็พบว่า วิธีการที่หน่วยงานต่างๆ พยายามพัฒนาธุรกิจ SMEs นั้นไม่น่าจะบรรลุผลสำเร็จตามที่ตั้งเป้าไว้มากมายเท่าใดนัก ซึ่งผู้เขียนเองก็ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้
ความเชื่ออย่างแรก! น่าจะเป็นเพราะธุรกิจ SMEs ยังบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพไม่ได้
จริงหรือไม่คงต้องพิสูจน์กันต่อไป
ความจริงเริ่มกระจ่าง!
ในช่วงที่ผู้เขียนเรียนในระดับปริญญาเอกด้านการจัดการธุรกิจ มีเพื่อนผู้เขียนท่านหนึ่งสนใจทำดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวในธุรกิจร้านค้าทองของประเทศไทย
- เราได้มีโอกาสพูดคุยกันหลายๆ ครั้งเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว (Family Business)
- เพื่อนของผู้เขียน (ดร.สันติ สุวัณณาคาร) ได้ให้เอกสารและหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวของต่างประเทศกับผู้เขียนเพื่อศึกษาเป็นจำนวนหลายๆ เล่มโดยเฉพาะของ Ward ซึ่งเป็นกูรูด้านนี้ของโลก
หลังจากที่ได้อ่านหนังสือของ Ward โดยเฉพาะเล่มที่ว่าด้วย Unconventional Wisdom
จึงพบประเด็นที่น่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว
(1) ธุรกิจในโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อนหรือยังเป็นอยู่
(2) ธุรกิจครอบครัวมีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ต้องการศึกษาและทำความเข้าใจ ไม่ใช่นำโนว์ฮาว์ที่มีอยู่ดาษดื่นเข้ามาใช้ได้โดยตรง
(3) ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ต้องมีรูปแบบโมเดลและวิธีการสืบทอดธุรกิจ ซึ่งจะเป็นคนละแบบกับบริษัทหรือธุรกิจทั่วๆ ไป
ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เขียนสนใจและศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งมี DNA และรหัสลับ ซึ่งผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟังครับ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ

No comments:

Post a Comment