คำว่า ธุรกิจครอบครัว -Family Business ทายาทธุรกิจ การสืบทอดธุรกิจ สำหรับ พ.ศ. ปัจจุบัน ดูจะเป็นคำที่เห็นและได้ยินกันคุ้นหู คุ้นตามากขึ้น ทั้ง นิตยสาร นสพ. ธนาคารพาณิชบ์ฯ ที่โดดมาจับลูกค้ากลุ่มนี้(นำด้วยการพัฒนาความรู้ตามด้วยสินเชื่อ) หรือ แม้กระทั่งมหา'ลัย ถูกแรงกระแทกของธุรกิจครอบครัวให้ต้องเปิดสอนสาขาวิชานี้
เร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนเห็น อีกคำที่พูดกันมาก "จากรุ่นสู่รุ่น (Generation to Generation) " ทำให้กลับมานั่งคิดว่า ลองไขข้อความรู้เรื่องนี้ให้กระจ่างขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ได้เวลาเหมาะเจาะ
ที่เรียกว่า "ทายาทธุรกิจ" หรือ "ผู้สืบทอดธุรกิจ" หากใช้คำว่า Successor น่าจะเข้าใจตรงกันได้
คำถามจึงมีอยู่ว่า
1) เป็นการที่รุ่นลูกสืบทอดธุรกิจ จากรุ่นพ่อ ใช่ไหม
2) หรือ การส่งต่อธุุรกิจ จากรุ่นที่ 1 ไปยังรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 2 ส่งต่อไปยัง รุ่นที่ 3 อย่างนี้เรื่อย ๆ ไปใช่ไหม
3) การที่คุณ บัณฑูร ล่ำซำ บอกว่า เขาเป็น รุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ ท่านเข้าใจว่าอย่างไร
4) ประเด็นของการสืบทอดธุรกิจ มีทฤษฎี หรือไม่ หรือว่า เป็นง่าย ๆ แบบที่เราเข้าใจข้างต้น
5) และถ้าผู้เขียนบอกว่า ตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้นำตระกูลยังเป็นรุ่นที่ 2 อยู่ท่านเชื่อและเข้าใจตามผู้เขียนหรือ ไม่ หรือ อาจจะงงและคัดค้านอยู่ในใจ เพราะปัจจุบันเห็นมีทายาทเป็นรุ่น 6 รุ่น 7 แล้ว
คำตอบของเรื่องราวข้างต้น ผู้เขียนขอแจงให้ทราบพอเป็นที่เข้าใจง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
กรณีของ ตระกูลจิราธิวัฒน์ หรือรู้จักกันว่าเป็นผู้บุกเบิกและกุมค้าปลีกเมืองไทยมานานจนแทบจะแยกไม่ออกไปจากคนไทย
" บริษัทเซ็นทรัลเทรดดิ้ง อันเป็นจุดกำเนิดของห้างเซ็นทรัลในปัจจุบัน ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2490 โดยเตียง จิราธิวัฒน์ (นี่เตียง แซ่เจ็ง) และสัมฤทธิ์ (ฮกเส่ง แซ่เจ็ง) บุตรชายคนโต เป็นร้านค้าตึกแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น 1 คูหา (ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย) ปากตรอกกัปตันบุช ย่านสี่พระยา จำหน่ายหนังสือ เป็นหลัก รวมทั้ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และ เครื่องสำอาง ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเซ็นทรัล เป็นกิจการใหม่ ที่สานต่อจากกิจการร้านชำ เข่งเซ่งหลีบางขุนเทียน ของเตียง ... และเปลี่ยนเป็น "ห้างเซ็นทรัล" เมื่อเปิดสาขาวังบูรพา ซึ่งตรงกับคำว่า Central ... โดยยึดหลัก สินค้าคุณภาพ ราคายุติธรรม"
เมื่อ เตียง จิราธิวัฒน์ ถึงแก่กรรมเมื่อ 12 ก.ค.2511 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ได้เข้าดำเนินการห้างเซ็นทรัลต่อมากับน้องอีก 2 คน แต่รู้กันว่า ผู้กุมบังเหียนห้างเซ็นทรัลคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์"
ลักษณะของการสืบทอดธุรกิจ หากมองโดยทั่วๆไป จะเป็นลักษณะของ รุ่นที่ 1 สืบทอดไปยังรุ่นที่ 2 ซึ่งในทางทฤษฎีธุรกิจครอบครัวมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น เรียกว่า "Controlling Owner" และการสืบทอดธุรกิจเป็นรูปแบบ "Recycle"
หมายความว่า ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ควบคุมความเป็นเจ้าของกิจการห้างเซ็นทรัล และสืบทอดธุูรกิจไปให้รุ่นลูก (จากเตียง จิราธิวัฒน์สืบทอดหรือส่งต่อไปยังสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์)
และ เมื่อสัมฤทธิ์ เสียชีวิตลงเมื่อ 10 ก.ค.35 กิจการของครอบครัว จิราธิวัฒน์ ได้ถูกส่งต่อไปยัง วันชัย จิราธิวัฒน์ (เป็นน้องชายของสัมฤทธิ์) ซึ่งหมายความว่า ห้างเซ็นทรัลยังคงการบริหารโดยครอบครัวอยู่ในรุ่นที่ 2 รูปแบบนี้ทาง ทฤษฎีธุรกิจครอบครัวเรียกว่า "Sibling Partnership" หมายถึงรุ่น พี่-น้อง เข้าควบคุมธุรกิจครอบครัวต่อ และการสืบทอดธุรกิจจะเป็นรูปแบบที่เรียกว่า "Evolutionary"
ตระกูลจิราธิวัฒน์จึงเป็น กรณีธุรกิจครอบครัวที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ....เราไม่ได้สนใจแค่นับว่าปัจจุบันเป็นรุ่นไหนของครอบครัว หากท่านต้องการศึกษาธุรกิจครอบครัว เราต้องสนใจลึกกว่านั้นโดยศึกษากันใน 2 ลักษณะ คือ 1)รูปแบบของธุรกิจครอบครัว ขับเคลื่อนต่ออย่างไรของอำนาจควบคุม และ 2) ลักษณะของการสืบทอดธุรกิจ หรือ การส่งไม้ต่อ มีรูปแบบเป็นอย่างไร
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
ผู้อำนวยการโครงการ Human Capital
ผู้อำนวยการโครงการ Human Capital
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
Line ID : thailand081
No comments:
Post a Comment