Sunday, February 13, 2011

ทำไมประเทศไทยจึงพัฒนาธุรกิจครอบครัวช้า


เรามักได้ยินกันว่า ทีนั่นที่นี่ เป็นสุดยอดหรือเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะในประเทศไทยยิ่งไม่ต้องแปลกใจเพราะเพิ่งจะมีการศึกษากันอย่างจริงจังประมาณ 5 ปี (บวก-ลบ) แม้ว่าก่อนหน้านั้นมีการพูดมาเป็น ทศวรรษแต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ

ประการแรก  ธุรกิจและนักวิชาการมักจะพูดเปรียบเทียบระหว่าง "ความเป็นมืออาชีพ" กับ"ความเป็นครอบครัว" และเราจะพบว่า ธุรกิจไทยแต่เดิมพยายามที่จะบอกว่าตนเองเป็นมืออาชีพมากกว่าเป็น "ธุรกิจครอบครัว" หรือไม่ก็จะบอกว่า "ถึงเป็นธุรกิจครอบครัวแต่บริหารแบบมืออาชีพ" อาจจะเป็นเพราะกลัวจะหาว่ามีการบริหารแบบไม่มีระบบ เป็นประสบการณ์ของรุ่นก่อตั้ง ไม่อยากบอกใครว่าเป็นธุรกิจครอบครัว(ผิดกับในปัจจุบันที่บอกได้เต็มปากกว่า) ทำให้การศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวมีน้อยหรือแทบไม่สนใจกัน เลยไม่มีข้อมูลและไม่รู้ว่าจะไปศึกษาตัวอย่างจากที่ไหน


ประการต่อมา  เราจะพบว่า ธุรกิจครอบครัวไทย ในแต่ละตระกูลที่รู้จักกันนั้น ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปิดเผยหรือให้ข้อมูลต่อสาธารณะมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการแสดงความร่ำรวยอาจมีผลตามมาหลายอย่าง  ตั้งแต่การขอความอนุเคราะห์  การบริจาค หรือ การเป็นที่เขม่นของภาครัฐ หรืออาจถูกตรวจสอบจากทางการ ฯลฯ
   รวมถึงการเปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จหรือ วิธีการทำธุรกิจ อาจเป็นผลเสียต่อกิจการในแง่ที่ว่าทำให้คู่แข่งรู้และเข้าใจธุรกิจได้้ และยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจครอบครัวใหญ่ ๆ ในอดีตต้องแอบอิงทางการเมืองเพื่อการเข้าถึง "ได้สิทธิ" และ "สัมปทานของภาครัฐ"  การดำเนินธุรกิจแบบเงียบ ๆ จึงปลอดภัยและไม่ตกเป็นเป้าสายตายของกลุ่มที่จะมาแย่งชิงผลประโยชน์ในทุกมิติ

 ประการที่สาม หากพิจารณาสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะหลักสูตร MBA ที่เปิดสอนด้านนี้ มักเป็น วิชา"ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)" มากกว่าที่เป็นวิชาว่าด้วย "ธุรกิจครอบครัว (Family Business)" ในระยะหลังหรือปัจจุบันได้มีความพยายามเปิดเป็นหลักสูตรธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทายที่เดินมาช้าอย่างยิ่งแต่ดีกว่าไม่มา ผู้เขียนเอง ศึกษาด้านนี้มานาน คิดว่ามีความจำเป็นจึงได้ใส่องค์ความรู้เรื่องธุรกิจครอบครัวในวิชา ความเป็นผู้ประกอบการมา 4-5 ปีแล้วในหลักสูตร MBA ที่สอน ก่อนหน้านั้นได้พูดในโอกาสที่บรรยายเกี่ยวกับธุรกิจ SMEs

 ประการสุดท้าย ในปี' 39 เกิดภาวะการล่มสลายทางเศรฐษกิจของประเทศไทย  และส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจตระกูลใหญ่ หรือ อาจเรียกว่า ธุรกิจครอบครัวไทย ได้สูญเสียกิจการ และฐานที่มั่นทางธุรกิจให้ตกไปอยู่ในมือต่างชาติ หรือ ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้พบความจริงว่า
    1) ธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ จำเป็นต้องปรับการบริหารกิจการและใช้โนว์-อาว์ สมัยใหม่มากขึ้นจึงจะแข่งขันและสามารถกลับมาหงาดอย่างยิ่งใหญ่ได้อีก
    2) การไม่เตรียมการในเรื่องการสืบทอดธุรกิจ หลังผู้นำตระกูล หรือ หัวเรือใหญ่ของครอบครัวต้องตาย หรือวางมือไปกิจการครอบครัวหลังจากนั้นไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้
    ความจำเป็นที่ต้องการสืบสานธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น (Generation to Generation) จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ธุรกิจครอบครัวไทยต้องดำเนินการและไม่สามารถรอได้อีกต่อไป
ทำให้ ยุคปัจจุบันจึงมีผู้สนใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ทั้งธุรกิจครอบครัวเอง นักวิขาการ ที่ปรึกษาธุรกิจ รวมถึงองค์กรภาครัฐ ต่างให้ความสนใจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับธุรกิจครอบครัว และประเทศชาติ


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ

บจก.ดี เอ็น ที คอนซัลแตนทฺ์


โทร 029301133

No comments:

Post a Comment