Saturday, March 13, 2010

ธุรกิจครอบครัว VS ธุรกิจ SMEs โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

อย่างที่ได้เกริ่นไว้ตอนแรกว่า ธุรกิขชองคนไทยมักไม่อยากบอกใครว่าเป็นธุรกิจครอบครัว พอบอกว่าเป็น ธุรกิจ SMEs (Small & Medium Enterprises) กลับรู้สึกว่าเป็นชื่อเรียกที่ดีกว่า
ในเมืองไทยเราอาจจะได้รู้จักชื่อต่อไปนี้
วิสาหกิจชุมชน (Community Enterprises) เป็นธุรกิจเล็กในชุมชน ซึ่งอาจมีบ้านใดบ้านหนึ่งเป็นจุดหลักของการประกอบอาชีพแล้วขยายไปใช้แรงงาน/ฝีมือ หรือวัตถุดิบต่างๆ ในชุมชน ยังไม่สามารถพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัยได้
ธุรกิจ SMEs (ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) เป็นธุรกิจขนาดที่ใหญ่กว่าวิสาหกิจชุมชน โดยที่ในบ้านเราอาจจำแนกธุรกิจ SMEs ด้วยสิ่งต่อไปนี้
-จำนวนพนักงาน
-ขนาดของสินทรัพย์
-รายได้ของผู้ประกอบการ
แล้วธุรกิจทั้ง 2 ลักษณะเป็นธุรกิจครอบครัวหรือไม่
.......ธุรกิจที่มีพ่อ-แม่ พี่น้องช่วยกันดูแลกิจการ เป็นธุรกิจครอบครัวหรือไม่
.......ธุรกิจที่สามี-ภรรยา (คู่สมรส) ร่วมกันทำธุรกิจใช่ธุรกิจครอบครัวหรือไม่
.......ธุรกิจที่ดำเนินการโดยผู้ก่อตั้งคนเดียว อาจเป็นชายหรือหญิงถือเป็นธุรกิจครอบครัว?
.......ธุรกิจที่ร่วมดำเนินการระหว่างเพื่อน 3-4 คนที่สนิทสนมชอบพอกันและเห็นโอกาสทางธุรกิจ
ทั้งหมดนี้ท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยว่าเป็นธุรกิจครอบครัว

ธุรกิจครอบครัวไทย
ธุรกิจครอบครัวไทยที่มีการดำเนินธุรกิจมาจากส่วนบุคคล (Individual) มีสูงถึงร้อยละ 95.7 (การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2549) และในการสรุปข้อมูลสำมะโนอุตสาหกรรม พ.ศ.2550 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2550) พบว่า
•สถานประกอบการทั่วประเทศไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 35.1 เป็นสถานประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และรถจักรยานยนต์) รวมทั้งการซ่อมแซมของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน
•รองลงมาประมาณร้อยละ 28.8 เป็นสถานประกอบการเกี่ยวกับการผลิต
•ร้อยละ 9.1 เป็นสถานประกอบการที่ดำเนินการเกี่ยวกับโรงแรมและภัตตาคาร
•การขาย การบำรุงรักษาและการซ่อมแซมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 8.4
ส่วนรูปแบบการจัดตั้งตามกฎหมายของสถานประกอบการนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศพบว่า
-ส่วนใหญ่ร้อยละ 95.7 มีรูปแบบเป็นส่วนบุคคล(บุคคล)
-รองลงมาเป็นสถานประกอบการที่มีรูปแบบเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ร้อยละ 1.6
-รูปแบบอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน มูลนิธิ สมาคม ฯลฯ มีร้อยละ 1.6
-ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและสหกรณ์ มีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 1.0
โดยสถานประกอบการ 1,132,424 แห่งมีการจ้างงาน 4,514,410 คน

ธุรกิจครอบครัวมีความหมายอย่างไร
ธุรกิจครอบครัว (Family Business) จะว่าไปแล้วเป็นคำที่คุ้ยเคยกันมาก เพราะมนุษย์เราทุกคนต่างเริ่มต้นลืมตาอ้าปากออกมายืนบนโลกใบนี้ได้ล้วนแล้วมีจุดกำเนิดที่ครอบครัวเหมือนกันทุกคน
แต่นิยามคำว่า ธุรกิจครอบครัวยากมากเพราะว่าขอบเขตของธุรกิจครอบครัวกว้างมากตั้งแต่ร้านขายของเล็กๆ ไปจนถึงระดับองค์กรที่ควบคุมโดยครอบครัว
Mustakallio (2002) สรุปว่าธุรกิจครอบครัวจะเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
(1)ธุรกิจครอบครัวมีความหมายที่อ้างถึงความเป็นเจ้าของของครอบครัวหรือากรควบคุมโดยเจ้าของ
(2)อ้างถึงการเกี่ยวข้องของครอบครัวในการจัดการบริษัท
(3)อธิบายเกี่ยวกับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
(4)และสุดท้ายให้ความหมายเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายของบริษัทและการตัดสินใจทางกลยุทธ
ผู้เขียนได้ให้ความหมายของธุรกิจครอบครัวในงานวิจัย “เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย” (ดนัย เทียนพุฒ, 2552) ตามนิยามของ Ward (2005) ว่า
“ธุรกิจครอบครัวเป็นกิจการที่มีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีการจัดการและการควบคุม และมีวิวัฒนาการของครอบครัวเป็นสิ่งกำหนดความซับซ้อนและการเติบโตของธุรกิจครอบครัว”
ท่านอยากรู้ไหมว่า อัตราการเกิดและตายของธุรกิจที่ก่อตั้งใหม่และดำเนินไปได้ยาวนานแค่ไหนโดยเฉพาะธุรกิจในประเทศไทย ผู้เขียนมีการวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้แล้ว อ่านได้ที่ "ธุรกิจครอบครัวไทยมีโอกาสรอดขนาดไหน"
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
กรรมการผู้จัดการ

No comments:

Post a Comment