ปัจจุบันธุรกิจครอบครัว ต่างสนใจให้ความสำคัญในการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น พร้อมกับต่างแสวงหาเรียนรู้เคล็ดวิชา ที่จะใช้นำพาให้ธุรกิจครอบครัวของตนก้าวเดินไปอย่างประสบความสำเร็จ และไม่ต้องผิดพลาดแบบธุรกิจครอบครัวในยุคก่อน ๆ
การเรียนรู้จาก ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จถือเป็นการเรียนลัดได้ในอีกแนวทางหนึ่ง แต่ธุรกิจครอบครัวต้องมีความเข้าใจเป็นเบื้องต้น ก่อนว่า
-ความสำเร็จดังกล่าวเป็นประสบการณ์ตรงของผู้ก่อตั้ง รุ่นพ่อ-แม่หรือ รุ่นลูกหลานแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นความสามารถเฉพาะบุคคล ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้
-สภาพแวดล้อมของธุรกิจแต่ละยุคสมัยมีความแตกต่าง การแข่งขันของธุรกิจและบริบททางธุรกิจไม่เหมือนกัน การนำความรู้ที่ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังมาไปใช้จำเป็นต้องเรียนรู้และศึกษาสภาพข้อจำกัดดังกล่าว
-ไม่มีความสำเร็จใดที่เป็นแบบ One Size Fits All ถ้าไม่ได้ทำการวิจัยศึกษาอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งกลั่นเป็นองค์ความรู้แบบที่ทำกันในธุรกิจครอบครัวต่างประเทศหรือ ประเทศตะวันตก
ผู้เขียนขอนำความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์จากประสบการณ์ของคุณสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ได้ใช้สร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จและถือเป็น"ต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทย" ซึ่งยอมรับและกล่าวถึงกันมาก โดยเฉพาะเรื่อง"หลักในการสร้างและดูแลครอบครัว" ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
(1) การอยู่ร่วมกัน ลักษณะการอยู่ร่วมกันของครอบครัวจิราธิวัฒน์คือ อยู่บ้านเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน เล่นด้วยกัน ทำงานด้วยกันและนอนบ้านเดียวกัน อันเป็นการปูพื้นฐานในด้านความรู้สึกนึกคิดว่าทุกคนมาจากครอบครัวเดียวกัน ไม่เกิดการแบ่งแยกว่าเป็นพี่น้องต่างมารดากัน
(2) การจัดลำดับอาวุโส ให้ทุกคนเคารพนับถือตามความอาวุโสของอายุ แทนที่จะถือตามศักดิ์ความเป็นอา-หลาน เพื่อเป็นการง่ายแก่การปกครอง ทุกคนในครอบคตรัวจิราธิวัฒน์เหมือนกันหมดไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นน้องเป็นลูก
(3) การอบรมสั่งสอนในครอบครัว ให้ความสำคัญกับการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่มาก เรื่องครอบครัวต้องรักน้องมากกว่าภรรยา ต้องมีความกตัญญู ต้องเคารพผู้ใหญ่ ต้องอ่านหนังสือ ต้องประหยัด อย่าเอาเปรียบคนอื่น อย่าเล่นการพนัน อย่าสูบบุหรี่ ทำอะไรทำจริง สำหรับผู้หญิงจะสอนวิธีการเลือกคู่ครองไม่จำเป็นต้องเป็นคนรวยของให้เป็นคนทำงานจริงจัง
(4) ใช้หลักประชาธิปไตยกับสมาชิกในครอบครัวทุกคน มีสิทธิมีเสียงที่จะแสดงความคิดเห็น
(5) การให้การศึกษาแก่สมาชิก ทุกคนจะได้มีการศึกษาที่ดี เด็กผู้ชายเรียนที่อัสสัมชัญ เด็กผู้หญิงเรียนที่มาร์แตร์ เป็นหลักและส่งเรียนต่อต่างประเทศทุกคน
(6) การแบ่งงานให้สมาชิก โดยการวางแผนธุรกิจล่วงหน้า แบ่งงานให้แต่ละคนโดยคำนึงถึงความอาวุโส ประกอบกับความสามารถและความเหมาะสม
(7) การทำโทษสมัยแรก ๆ ใช้ไม้เรียว และสมัยหลังใช้การเวียนจดหมายให้ได้อาย ประจานไม่ให้คนอื่นเอาเยี่ยงอย่าง ซึ่งวิธีนี้เป็นที่หวาดกลัวของคนในครอบครัวจึงระวังไม่ให้ทำอะไรผิดกัน
(8) การชมเชย คือการมอบความไว้วางใจให้ดูแลธุรกิจโดยให้งานเพิ่มขึ้นอีกเพื่อพัฒนาความสามารถให้มากยิ่งขึ้น จะได้รับผิดชอบที่สูงขึ้นไปอีก
น่าสนใจใน"ประสบการณ์ของครอบครัวจิราธิวัฒน์" ในการที่จะเรียนรู้แล้วลองปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจครอบครัวในยุคปัจจุบันครับ
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
No comments:
Post a Comment