Friday, December 24, 2010

โมเดลธุรกิจครอบครัวไทย โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ


ครั้งแรกที่ผู้เขียนศึกษาถึงความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวในประเทศสิงคโปร์ซึ่งประเทศเขาให้ความสนใจและศึกษากันอย่างเป็นจำนวนมาก  สิงคโปร์เรียกธุรกิจเหล่านี้ว่า "Cottage Industry" หรืออุตสาหกรรมในครัวเรือนว่าเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจครอบครัวที่จะก้าวไปสู่บรรษัทระดับโลก



สิ่งที่ธุรกิจพยายามกันอย่างมากคือ การสร้างคุณค่าให้ลูกค้าเพื่อที่จะได้ทำให้ลูกค้าซื้อสินค้า  แต่การที่จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้จะมีปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 2 อย่างคือ
อย่างแรก  การสร้างให้ลูกค้าฝังจำบริษัทหรือสินค้าไว้ให้อยู่ในใจและหาวิธีดึงเงินมาจากกระเป๋าลูกค้าเมื่อสินค้าหรือบริษัทถูกจดจำอยู่ในใจแล้ว
อย่างที่สอง  การลงทุนในด้านคนขององค์กรเพื่อสร้างคุณค่าให้เกิดกับองค์กร  จนกระทั่งส่งผลต่อการสร้างคุณค่าให้ลูกค้า
ในขณะที่ประเทศไทยมีการส่งเสริมให้ธุรกิจประสบความสำเร็จในการก่อตั้งกิจการ  หรือสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด  ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เริ่มมาจากกิจการเจ้าของคนเดียวไปสู่กิจการที่ใหญ่โต
แต่สิ่งที่น่าทึ่งจนกลายเป็นความอัศจรรย์ใจกับผู้เขียนคือ
: ธุรกิจที่เริ่มต้นมาจากความเป็นครอบครัว  พอถึงปัจจุบันต่างพยายามหรือปฏิเสธความเป็นครอบครัว  เพราะมีการให้สัมภาษณ์ซึ่งปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเวลาว่าปัจจุบันไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวแล้วเราบริหารธุรกิจด้วยมืออาชีพมาหลายปีทีเดียว
: ผู้เขียนลองสืบค้นทาง Google เพื่อหาเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า "ธุรกิจครอบครัว" (Family Business) ปรากฏว่า ไม่มีข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ (ความรู้สึกหลังๆ ในการค้นข้อมูลจาก Google จะรู้สึกว่าพบขยะออนไลน์ของหน่วยงานต่างๆ ใน Search Engine ค่อนข้างมาก)
โมเดลธุรกิจครอบครัว
การที่ธุรกิจครอบครัวจะประสบความสำเร็จได้  ควรจะมีโมเดลธุรกิจครอบครัว (Family Business Model) เป็นจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจ
ผู้เขียนได้ลองจำลองแก่นของโมเดลการเติบโตสำหรับธุรกิจครอบครัวขึ้นมาดังนี้
1  ขั้นก่อนการเริ่มธุรกิจ เจ้าของธุรกิจวางแผนเสี่ยงและเตรียมงานล่วงหน้าเกี่ยวกับทรัพยากรและจัดลำดับสิ่งที่จะเริ่มต้น อาทิ
- นิยามแนวคิดธุรกิจ
- ศึกษาผลิตภัณฑ์ตลาด
- วางแผนการเงิน
- วางแผนก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ

2  ขั้นเริ่มธุรกิจ
  เป็นขั้นตอนเริ่มธุรกิจเมื่อเจ้าของธุรกิจต้องเสี่ยงในตลาดและจัดทำสิ่งที่จำเป็นหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถอยู่รอดได้

3    ขั้นก่อนการเติบโต
  เป็นช่วงที่พัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว  เมื่อความเสี่ยงได้ผ่านไปจะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านการตลาด การเงินและการใช้ประโยชน์ทรัพยากร 

4  ขั้นภายหลังการเติบโต
 เป็นขั้นวิวัฒนาการของความเสี่ยงที่จะเข้าไปสู่ธุรกิจใหญ่กับคู่แข่งที่มีกำลังในอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น
 ความจำเป็นที่จะจัดการแบบมืออาชีพ  อาจมีความสำคัญมากกว่าการบริหารแบบเจ้าของกิจการ
ส่วนในกรณีธุรกิจครอบครัวไทยที่มาจากกลุ่มคนจีนโพ้นทะเล  ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  มีการพัฒนาและปรับตัวเป็นอย่างมากเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัว  และสิ่งที่บ่งบอกถึงการปรับตัวได้อย่างชัดเจนที่สุดคือ การอาศัยบารมีของนักการเมือง  ปกป้องคุ้มครองธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ธุรกิจครอบครัวไทยที่ทรงอิทธิพลอยู่ในเศรษฐกิจสังคมของประเทศในยุคก่อนปี 2540 ที่จะมีวิกฤตการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจจนประเทศล้มละลาย  แม้ในปัจจุบันก็ยังอยู่ในอาการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มทุนนิยมผูกขาดที่ถูกรัฐประหารไปได้ไม่นานนักจะมีอยู่ในลักษณะธุรกิจผูกขาดหรือธุรกิจกึ่งผูกขาดที่มีผู้ผลิตน้อยราย  และที่ก้าวไปเป็นบรรษัทระดับโลก เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์   การพัฒนาของธุรกิจครอบครัวไทย  จะมีอยู่ 2 ลักษณะสำคัญคือ เป็นการผลิตสินค้าด้านอุปโภคบริโภคที่ไม่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีกับการร่วมทุนกับธุรกิจต่างชาติ
ผู้เขียนเคยนำนักศึกษา MBA ที่เรียนด้านจัดการกลยุทธเข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มเครือสหพัฒน์ ได้พบว่า
:  โรงงานที่ผลิตสินค้านั้นในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นการนำเข้าเครื่องจักรมาผลิตสินค้าเหมือนดังที่เราเคยได้เข้าใจกัน  แต่เป็นลักษณะซื้อทั้งโรงงานที่สามารถมาดำเนินการผลิตได้เลยและพนักงาน หรือหัวหน้างานจะได้รับการถ่ายทอดความรู้ให้ดูแลเครื่องจักรหรือเครื่องควบคุมอัตโนมัติ  เปิด-ปิดเครื่อง  ถ้าเสียก็ให้ฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาเข้ามาดู  หากซ่อมไม่ได้ก็ซื้ออะไหล่มาเปลี่ยน
- กลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยที่พัฒนามาจากกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลหรือเป็นนาย-หน้าของโรงงานผู้ผลิตสินค้าจากต่างประเทศนั้นไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค  หรือวิศวกรรมด้านอุตสาหกรรมเหมือนญี่ปุ่น ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
-  ต้องยอมรับว่าก่อนปี 2540 กลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยเกือบทั้งประเทศจะถูกครอบงำหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของเหล่าบรรดากลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลักเกือบทั้งหมด  ซึ่งกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์เหล่านี้โดยเฉพาะในยุคก่อนปี 2540 ไม่ได้สนใจการพัฒนาทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม
ซึ่งหากทุกท่านจำได้เมื่อ Tom Peter และ Robert Waterman ได้เขียนหนังสือ In Search of Excellence ออกมาในช่วงปี 1982 มีธุรกิจธนาคารบางแห่งโดดเข้ามาปล่อยสินเชื่อในธุรกิจโรงสีข้าว  เพราะอีกธนาคารหนึ่ง (มุ่งในสิ่งที่ตนเชี่ยวชาญตามหนังสือ) ขายธุรกิจโรงสีข้าวออกทั้งหมด  ปรากฏว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านธุรกิจโรงสีข้าวไม่ใช่ดาวเด่นอีกต่อไป  ธนาคารที่ให้สินเชื่อเกิดหนี้เป็นจำนวนมากมาย
สรุปแล้วพัฒนาการในสภาพจริงๆ ของธุรกิจครอบครัวไทยในเกือบทุกอุตสาห-กรรมจะเป็นลักษณะ
: กลุ่มธุรกิจครอบครับที่เติบโตหรือมีพัฒนาการโดยเป็นลักษณะธุรกิจกึ่งผูกขาดที่มีผู้ผลิตน้อยรายหรือเป็นธุรกิจผูกขาด เช่น ธุรกิจสุราและธุรกิจโทรคมนาคม
: กลุ่มธุรกิจครอบครัวจะพัฒนาขึ้นในลักษณะของนายหน้าโรงงานผู้ผลิตสินค้าจากต่างประเทศ  หรืออาศัยการร่วมทุนจากกลุ่มธุรกิจต่างชาติเป็นหลัก
: กลุ่มธุรกิจครอบครัวที่สามารถพัฒนาเป็นบรรษัทระดับโลกได้ (Conglome-rates) จะเป็นกลุ่มที่ได้ "สิทธิพิเศษ" จากภาครัฐหรือมีอิทธิพลเหนือรัฐ
การศึกษาของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2549) เกี่ยวกับระบบทุนนิยมที่มีธุรกิจครอบครัวเป็นแกนหลักภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จะถดถอยอ่อนแแอลงอย่างเห็นได้ชัด
แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจครอบครัวไทยจะเป็นลักษณะของธุรกิจส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่จะอยู่รอดได้ด้วยการเข้าถึงอำนาจรัฐโดยตรง หรืออิงแอบกับการเมือง หรือร่วมทุนกับธุรกิจระดับบรรษัทข้ามชาติ  โดยมิอาจปฏิเสธได้ไปอีกตราบนานเท่านาน



No comments:

Post a Comment