Saturday, March 13, 2010

ไอเดียธุรกิจ โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ

เรื่องราวของการสร้างธุรกิจหรือวิธีการคิดเพื่อจัดตั้งกิจการ หรือเริ่มต้นหาโอกาสลงทุนในกิจการต่างๆ บางครั้งก็ดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่แน่นักในอาชีพ เช่น ลูกจ้าง/พนักงานมืออาชีพที่จะออกมาเริ่มต้นธุรกิจซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ยากหรือบางครั้งแทบดูจะเหมือนเป็นไปไม่ได้
ผู้เขียนมีเพื่อนดำเนินธุรกิจร้านทอง-เพชร ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวแล้วตกทอดมาถึงรุ่นเพื่อน และได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงการเข้ามาสู่ธุรกิจร้านทอง-เพชร พอคุยกันลึกๆ แล้ว

*ไม่ใช่ใครก็ได้ที่มีเงินแล้วคิดอยากจะมาทำธุรกิจนี้ก็จะประสบความสำเร็จ
*คิดว่ามาลองดูสักครั้งเห็นท่าไม่ดีก็จะได้ถอย แต่เอาเข้าจริงอาจหมดตัวได้
*คุณภาพของทอง-เพชร รวมถึงช่างทองหรือเทคนิคต่างๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเปิดเผยกันให้คนนอกวงการรู้ รวมถึงเทคนิคที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลหรือทุจริต ดูเหมือนแทบจะเป็น “เคล็ดลับในความสำเร็จของธุรกิจนี้โดยตรง”

ดังนั้นการที่คิดจะทำธุรกิจจึงเป็นทั้งเรื่องที่จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย แต่ในความคิดของผู้เขียนการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเกินความสามารถในตัวเราเป็นแน่แท้


ประสบการณ์ในการเริ่มธุรกิจ

ถ้าจะพูดกันจริงๆ โดยพื้นฐานของผู้เขียนไม่ใช่มาจากครอบครัวของพ่อค้า แต่มาจากครอบครัวของเกษตรกรและข้าราชการดังนั้นแนวคิดในการทำธุรกิจสมัยเด็กๆ จึงไม่มี ครั้นเมื่อผู้เขียนมาเรียนในระดับมหา’ลัยได้เจอเพื่อน รุ่นพี่ในมหา’ลัยจึงเริ่มเห็นช่องทางที่จะสร้างรายได้ในระหว่างที่ร่ำเรียน แม้ว่าโดยสภาพจริงๆ ผู้เขียนไม่ได้ขัดสนหรือมีความจำเป็นแต่อย่างใด อาทิ

*การสมัครเข้าช่วยงานประเภทต่างๆ ซึ่งมหา’ลัยเปิดโอกาสให้นักศึกษาหารายได้เป็นเงินค่าเล่าเรียนทางการศึกษา
*วิชาความรู้ที่ผู้เขียนเรียนในขณะนั้นคือ วิชาคณิตศาสตร์ซึ่งได้เห็นรุ่นพี่ๆ ใน มหา’ลัยสามารถ “ติวเข้ม” ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงระดับมหา’ลัยและมีรายได้พิเศษที่สูงมากทีเดียว
*ยังพบอีกว่าการเขียนบทความในหนังสือต่างๆ สามารถที่จะมีรายได้จากค่าตอบแทนในเรื่องที่เราเขียนได้อีกด้วย
ตัวอย่างข้างต้นเป็นประสบการณ์ตรงที่ดีของผู้เขียนที่ได้เรียนรู้วิชาหารายได้พิเศษในขณะที่ร่ำเรียนในมหา’ลัย จนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งในชั้นปีที่ 3 ผู้เขียนได้ร่วมทุนกับเพื่อนๆ ในกลุ่มเดียวกันและสุมหัวคิดกันว่า
*ในทุกๆ ปีจะมีประกาศผลสอบเข้ามหา’ลัยหรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “ผลเอนทรานซ์” และจะมีน้องๆ นักเรียนมาดูผลสอบกันอย่างมืดฟ้ามัวดิน เราน่าจะทำอะไรจากตรงนี้ได้บ้าง (วิเคราะห์และค้นหาโอกาสทางธุรกิจ)
*พวกเราได้ระดมทุนกันพร้อมกับไปยืมเงินท่านอาจารย์ที่เคารพท่านหนึ่งในขณะนั้น (ศ.ดร.ลมุล รัตตากร) และก็ขอยืมโต๊ะจากภารโรง (ผู้มีอำนาจเต็มของมหา’ลัย) จัดแจงวางแผนผังที่ตั้ง (กำหนดสถานที่หรือช่องทางจำหน่าย)
*พร้อมกันนั้นผู้เขียนได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบว่า ใครจะต้องทำอะไร เช่น ใครจะปิ้งลูกชิ้น ใครจะติดต่อขอซื้อน้ำอัดลม จะเอาแก้วแบบไหน จะหาน้ำแข็งที่ใดดี ใครจะเป็นคนควบคุมเงินตอนซื้อขาย และใครจะทำหน้าที่ชักชวนลูกค้า (เป็นพรีเซ็นเตอร์) สุดท้ายจริงๆ คือ ถ้าขายดีจะส่งกำลังบำรุงกันอย่างไร (หาสินค้าและผลิตภัณฑ์มาเพิ่มเติม)

ทั้งหมดนี้เป็นความสามารถเฉพาะตัวของผู้เขียนและเพื่อนๆ ซึ่งบางคนก็อยู่ในครอบครัวค้าขายหรือที่เรียกกันว่าธุรกิจ SMEs ในปัจจุบัน จะมีก็แต่ผู้เขียนเท่านั้นที่ดูจะถนัดในเชิงของวางแผน วางกลยุทธและจัดการทั้งหมดตามที่เล่ามา แต่ก็ไม่ได้เคยร่ำเรียนในสิ่งเหล่านี้มาก่อน จะมีเพียงแต่ “ครูพักลักจำ” เป็นหลักเสียมากกว่า
แต่สิ่งที่ผู้เขียนได้รับคือ ความภาคภูมิใจที่ทำธุรกิจเล็กๆ โดยไม่มีอะไรมากมายและก็สร้างรายได้พอสมควร เหลือเงินและก็คืนเงินทุนให้ทุกๆ คน ขณะเดียวกันก็สร้างให้กลุ่มนักการภารโรงของมหา’ลัยได้เห็นโอกาสทางธุรกิจจากการประกาศผลสองเอนทรานซ์ในปีถัดไป

การเริ่มทำธุรกิจจริงๆ
อาศัยจากการที่ผู้เขียนเห็นโอกาสและช่องทางจากการนำความรู้หรือสิ่งที่ผู้เขียนถนัดคือ เรื่องของการชอบอ่านและเขียนจึงได้ทดลองเขียนบทความและก็ส่งไปตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในขณะนั้น

*ผลคือ ได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นกำลังใจและน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงให้กับผู้เขียนได้คิดที่จะเขียนบทความทางวิชาการให้เป็นแบบเอาจริงเอาจัง
*ได้รับคำแนะนำจากผู้ใกล้ชิดและเพื่อนฝูงให้พยายามปรับเนื้อหาให้อ่านได้ทั่วไปมากขึ้น อย่าเป็นวิชาการที่แข็งมากนัก
*หลังจากที่มีการปรับปรุงด้านการเขียนบทความวิชาการทั้งด้านธุรกิจ การบริหารคนและในขอบเขตที่ผู้เขียนสนใจจนกระทั่งพอจะรวมเป็นเล่มจัดพิมพ์ได้

ผู้เขียนได้ลองจัดทำต้นฉบับหนังสือขึ้นมาและไปติดต่อที่สำนักพิมพ์เพื่อเสนอให้พิมพ์หนังสือของผู้เขียน และก็มีสำนักพิมพ์ตอบตกลงที่จะพิมพ์หนังสือเล่มแรกของผู้เขียนคือ หนังสือนักบริหารมืออาชีพ ที่จัดพิมพ์โดย “ห้างโอเดียนบุ๊คสโตร์”
สิ่งนี้เป็น สะพานเชื่อมต่อ “ดอกผลทางปัญญาไปสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นการสร้างสรรค์ค์ปัญญาให้สังคม” และในปัจจุบันผู้เขียนมีหนังสือหลายเล่มที่จัดจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งด้านจัดการกลยุทธ เช่น “Balanced Scorecard” และ “KPIs” “การบริหารทรัพยากรมนุษย์” “ความสามารถและค่าตอบแทนตามผลสำเร็จ” เป็นต้น

ฉะนั้น “ไอเดียธุรกิจ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพียงแต่เราจับ “ไอเดียธุรกิจ” มาสร้างเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” และนำสู่ “การดำเนินธุรกิจ” ได้อย่างจริงๆ จังหรือไม่เท่านั้น ลองดูซิครับ! มีไอเดียธุรกิจอยู่รอบตัวท่านจริงๆ

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut

No comments:

Post a Comment