Saturday, March 13, 2010

เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย

สนใจดูรายละเอียดของสารบัญหนังสือเล่มนี้ได้ที่ http://dntbook.blogspot.com/2008/08/breakthrough-thai-family-businesses-dna.html หรือติดต่อโครงการ Human Capital โทร 029395643, 029301133 ...


เป็นที่ทราบกันดีหรือพูดกันอยู่ตลอดเวลาในโลกธุรกิจว่าธุรกิจเกือบทุกประเภทนั้นเริ่มต้นหรือมีจุดกำเนิดมาจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) และที่สำคัญยิ่งคือ ธุรกิจครอบครัวถือเป็นพลวัตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

เราได้เห็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ เช่น Ford, Nike, Sony, Samsung เหล่านี้มีกำเนิดมาจากธุรกิจครอบครัวเป็นหลักหรือแม้แต่กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัลเหล่านี้ยังมีความเป็นธุรกิจครอบครัวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด
ความสนใจของผู้เขียนในการศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวไทยนั้นมีผลสะท้อนมาจาก
“การส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ได้มีโอกาสประสบความสำเร็จโดยการผลักดันให้ธุรกิจก้าวจากธุรกิจเล็กๆ กิจการเจ้าของคนเดียวไปสู่กิจการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น มหาบรรษัทครอบครัว (Family Conglomerates) ต่างๆ นั้น กลุ่มที่อยู่รอดมักต้องอิงอำนาจรัฐหรือมีอำนาจเหนือรัฐหรือไม่ต้องร่วมทุนกับต่างชาติ” (ผาสุก พงศ์ไพจิตรและคณะ, 2549)

ผลจากสิ่งที่กล่าวไว้นี้สะท้อนให้เห็นถึง ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการที่ขาดซึ่งความเข้าใจและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ อาทิ

1)ความเข้าใจในแก่นแท้ของธุรกิจครอบครัวโดยเฉพาะเมื่อกิจการนั้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งหมายถึง การเป็นกิจการของสาธารณะ
2)ธุรกิจจำเป็นต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ถามว่าธุรกิจนั้นได้ทำอะไรผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ธุรกิจต้องถามว่าได้ทำอะไรให้กับลูกค้า ประชาชน สังคมและประเทศนั้นคุ้มค่าเงินหรือไม่ต่างหาก

การสร้างเมล็ดพันธ์แห่งปัญญา

ถ้าถามว่าธุรกิจครอบครัวไทยที่ประสบความสำเร็จจะมีคุณลักษณะความ-สามารถของผู้ประกอบการในรูปแบบหรือโมเดลอย่างไร โมเดลการบริหารธุรกิจครอบครัวไทยและการสืบทอดธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นจะมีวิธีการหรือพาราไดม์อย่างไร ทำกันมากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากหรือต้องการคำตอบในรูปแบบที่มีการศึกษาอย่างถูกหลักวิชามากกว่าที่จะเป็นเกร็ด คำบอกเล่า เรื่องราวจากคอลัมนิสต์หรือเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น

สิ่งที่เป็นคำถามและประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไทยคือ

คุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการไทยแบบใดจึงจะนำไปสู่การเป็นธุรกิจครอบครัวไทย เพราะมีการเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการ (Entre-preneurship) กันค่อนข้างมาก แต่มักจะเป็นการศึกษาและเรียนรู้ตามตำราของฝรั่งเป็นหลักใหญ่ใจความ จึงน่าสนใจว่าธุรกิจครอบครัวไทยที่ผู้ก่อตั้ง (Founder) เริ่มขึ้นมานั้นควรจะมีคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการแบบใด

ต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทยสู่ความสำเร็จ สิ่งที่ผู้เขียนสนใจหรือเป็นคำถามต่อมาคือ ธุรกิจครอบครัวไทยตั้งแต่ในอดีตหรือยุคสุโขทัยจนถึงยุครัตนโกสินทร์มีวิวัฒนาการการค้าในประเทศเป็นอย่างไร มีโมเดลหรือรูปแบบธุรกิจครอบครัวไทยที่จะสามารถสังเคราะห์เป็นต้นแบบ (Prototype) รูปแบบความสำเร็จในอนาคตหรือไม่ ขณะเดียวกันมีธุรกิจครอบครัวไทยใดที่จะสามารถใช้เป็น “ตัวอย่างสู่ความสำเร็จได้บ้าง”หรือ “ใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการเรียนรู้สู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทยทั้งปัจจุบันและในอนาคต
และโดยเฉพาะในบริบทของสภาพสังคมเศรษฐกิจแบบไทยมีเงื่อนไขหรือข้อเด่นอะไรหรือ DNA รูปแบบใดที่จะเป็นสิ่งกำหนดความสำเร็จในการพัฒนาต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนไปสู่อนาคต

ผู้เขียนต้องการที่จะตอบข้อสงสัยหรือคำถามที่เป็นประเด็นน่าสนใจข้างต้นโดยกำหนดเป็นวัตถุประสงค์หลักของการวิจัยเจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทยคือ
ประการแรก ต้องการศึกษาเพื่อค้นหาองค์ประกอบหรือคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการ
ประการที่สอง ต้องการสังเคราะห์ดีเอ็นเอโมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทยจากรุ่นสู่รุ่น

เราจะเริ่มจากที่ใด

ในขั้นแรกเมื่อผู้เขียนมีประเด็นข้อสงสัยที่นำไปสู่ข้อสรุปทางความคิดภายหลังจากที่ได้มีการศึกษาและทบทวนวรรณกรรมทั้งเอกสารบทความและงานวิจัยที่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัว ได้จำลองเป็นกรอบความคิดในชั้นแรกไว้ดังรูป

รูปที่ 1 : กรอบความคิดในการวิจัยเจาะดีเอ็นเอ ธุรกิจครอบครัวไทย



รูปแบบการวิจัยและการศึกษา

รูปแบบของการวิจัยเป็นแบบผสม (Mixed Model) ทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณรวมทั้งยังทำการศึกษาในลักษณะของภาพตัดขวาง (Cross-Section Study) โดยการศึกษาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2550 ประชากรในการวิจัยมีลักษณะเป็นผู้ประกอบการทั้งที่คิดจะเป็น ที่เป็นอยู่และธุรกิจที่มีลักษณะความเป็นธุรกิจครอบครัว โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เครือข่าย (Social Network Analysis) มากำหนดกรอบของกลุ่มตัวอย่างให้มีลักษณะเป็นเอกพันธ์
กลุ่มตัวอย่างในช่วงแรกปี 2545-2546 เป็นผู้ประกอบการ 129 คน ช่วงที่ 2 ปี 2550 จำนวน 165 คน เป็นผู้ประกอบการธุรกิจสปา 52 คน กลุ่มนักศึกษา MBA ที่เรียนวิชา บริหารกลยุทธและความเป็นผู้ประกอบการ 56 คนและสมาชิกชุมชนออนไลน์ www.oknation.netที่เข้ามาโหวต 53 คนอื่นๆ 4 คน รวมทั้งสิ้น 294 คน และการศึกษาได้ดำเนินการตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ข้างต้น


สรุปผลผลิตทางปัญญา

รูปที่ 2 : ต้นแบบของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต (The 4D of Future Thai Business Prototype)



ต้นแบบของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต (The 4D of Future Thai Family Business Prototype)
ผลจากการวิจัยผู้เขียนได้สังเคราะห์ “ต้นแบบของธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคต” ไว้ดังรูปที่ 2 ซึ่งผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ดังนี้

มิติแรก DNA โมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทย จะประกอบด้วย 4 แกนหลักคือ แกนครอบครัว (Family Axis) แกนความเป็นเจ้าของ (Ownership Axis) แกนธุรกิจ (Business Axis) และแกนผู้ประกอบการ (Entrepreneur Axis) ดังรูปที่ 3

มิติที่สอง รูปแบบธุรกิจครอบครัวไทยในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ความเป็นโลกาภิวัฒน์ จะมีรูปแบบเริ่มตั้งแต่ 1) ธุรกิจจากอุตสาหกรรมในครัวเรือน (Cottage Industry) 2) ธุรกิจครอบครัวและซัพพลายเออร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialized Supplier Family Business) 3) ธุรกิจคอรบครัวที่เป็นแบบ OEM และ Partner (OEM & Partner Family Business) และ 4) ธุรกิจครอบครัวที่เป็นบรรษัทขนาดใหญ่ (Conglomerate Family Business)

มิติที่สาม ธุรกิจครอบครัวไทยในมิติทางสังคม-วัฒนธรรม (Socio-Culture Demession) ซึ่งต้องพิจารณาถึง 1) ความเป็นโลกาภิวัฒน์ 2) การใกล้ชิดถึงระยะของอำนาจ และ 3) ระบบคุณค่าของธุรกิจครอบครัว

รูปที่ 3 : DNA โมเดลสู่ความสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย



โดยที่ในแกนธุรกิจครอบครัวของมิติที่สามนี้จะมีโมเดล 6 คุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการอยู่ด้วย

มิติที่สี่ เมทริกซ์ระยะของผู้สืบทอดธุรกิจตาม 4 แกนหลักของโมเดลสู่ความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวไทย ซึ่งมีอยู่ 3 ระยะด้วยกันคือ ระยะที่ 1 การปฏิบัติ (The “Do” Phase) เป็นระยะเริ่มแรกของผู้สืบทอดธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจ
ระยะที่ 2 การชี้นำสู่การปฏิบัติ (the “Lead to Do” Phase) ผู้สืบทอดธุรกิจได้รับความผิดชอบสูงขึ้นและเลื่อนระดับ ตำแหน่ง
ระยะที่ 3 การอนุญาตให้ปฏิบัติ (The “Let Do” Phase) เป็นระยะที่อยู่ระหว่างช่วงอายุ 50-65 ปีของผู้สืบทอดธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนจะนำเสนอในแต่ละมิติอีกครั้งหนึ่งที่เป็นส่วนขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับในเบื้องต้นก็สามารถเห็นต้นแบบธุรกิจครอบครัวไทยในอนาคตที่ปรากฏเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.นี้

Dr.Danai Thieanphut
Managing Director
DNTConsultants Co.,Ltd.

No comments:

Post a Comment