Wednesday, September 30, 2015

"พ่อกับลูก" ต่างมุมมองที่ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจในธุรกิจครอบครัว



             ในช่วงที่ไปสอน MBA  ที่ มรภ.ภูเก็ต นศ.ในชั้นเรียน มีคละกันระหว่างคนที่ทำงานในบริษัทต่าง ๆ  กับคนที่ทำงานในธุรกิจของครอบครัว  กับ คนที่ตั้งธุรกิจของตนเอง (Start up business) 

             สำหรับคนที่ ทำงานกับธุรกิจครอบครัวของตนเอง ก็มีหลากหลาย เช่น ได้เข้ามารับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจกับ พ่อ-แม่   บางคนก็แล้วแต่พ่อ-แม่จะให้ทำอะไร(ลักษณะนี้ ก็อยากจะออกมาหางานทำเป็นตัวของตัวเองก็มี)

            ได้มีโอกาสพูดคุยกับ บรรดาลูกเจ้าของกิจการ และได้ข้อคำถามหรือ การไขคำตอบให้ไปบางกรณี เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
             ในกรณีของการที่เข้าร่วมบริหารงานด้านธุรกิจกับรุ่นพ่อ-แม่ อาจมีหลายอย่างที่เกิดขึ้นดังนี้

             1) ความต้องการในการดำเนินธุรกิจตามความคิดของตนเอง หรือ ตามที่ได้รับการศึกษาเรียนรู้มา ซึ่งในลักษณะนี้อาจมีความแตกต่างในมุมมองทางความคิด เช่น
             รุ่นลูก อยากปรับวิธีการทำธุรกิจ ใช้ความรู้ทางการตลาดเข้ามาเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ในขณะที่พ่อ-แม่ อาจมองว่าไม่มีความจำเป็นเพราะเคยทำมาไม่เห็นต้องทำการตลาดอะไร ขอให้สร้างสิ่งที่น่าสนใจ เมื่อมีลูกค้ามาก็ต้องเสนอขายหรือบริการให้ดี สร้างสีสันเพื่อให้ลูกค้าเข้าร้านหรือมาใช้บริการให้มากขึ้น

            2) เท่าที่ได้มีโอกาสไปพูดคุยกับรุ่นพ่อ-แม่ของลูกศิษย์ ซึ่งพาไปชมกิจการประเภท บันเทิง ร้านอาหาร ในย่านป่าตอง
            รุ่นพ่อ-แม่ มีความคิดว่า หลักวิชาบางครั้ง ปรับใช้ยาก และไม่ค่อยจะทำให้ประสบความสำเร็จมากนัก  และอีกอย่างประสบการณ์ที่รุ่นพ่อ-แม่ดำเนินมานั้น ทำให้ธุรกิจเติบโตได้มาถึงปัจจุบัน จึงยังไม่ค่อยวางใจกับสิ่งที่รุ่นลูกเสนอให้ทำ
           เมื่อรุ่นลูกขอ เปิดสาขาดำเนินการ คุณพ่อก็ยินยอมให้ทำ แต่พอทำไปสักพัก คุณพ่อก็จะเข้ามาสั่งการมาล้วงลูกการทำงาน เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ ลูกได้สั่งการหรือให้พนักงานไปทำ  ก็เกิดข้อขัดแย้งในวิธีการทำงาน และลูกน้องก็สับสน
           ลูกก็ตัดสินใจ ถอยออกไม่ไปยุ่งเลย ผลก็กลายเป็น คุณพ่อน้อยใจ หาว่าไม่ช่วย เกิดกลายเป็นความอีหลักอีเหลื่อ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

          มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกชายได้สอบถามผมเรื่องที่ร้านมีการทุจริตของพนักงานที่เก็บเงิน  ได้เล่ากระบวนการให้ผมฟังเสร็จ ผมได้แนะนนำวิธีการ ระหว่างการควบคุมการเก็บเงิน และการตรวจสอบรายได้รับกับบิลและการขายในแต่ละวันว่าควรทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าทุจริตหรือไม่  หลังจากฟังวิธีการที่ผมแนะนำไป
ไปบอกคุณพ่อ ท่านทำทันทีเลย

           3) ผมมีข้อสรุปว่า การทำงานระหว่างรุ่นพ่อ-แม่กับรุ่นลูกนั้นมีสิ่งที่ต้องเข้าใจคือ
           -มีความแตกต่างในด้านความคิด ระหว่างประสบการณืของรุ่นพ่อ-แม่กับรุ่นลูกที่ร่ำเรียนมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติ
           -ไม่ใช่รุ่นพ่อ-แม่จะไม่รับฟังเสียเลยทีเดียวแต่สิ่งที่เสนอให้ทำนั้นต้องเห็นผลอย่างชัดเจนกับธุรกิจในด้านรายได้ค่อใช้จ่าย
           -ทางออกที่สำคัญ ผมมักแนะนำให้รุ่นลูก หาทางพิสูจน์ฝีมือ โดยเลือกทำในสิ่งที่พ่อ-แม่ไม่สนใจ ไม่มีความชำนาญ ทำในสิ่งนั้น ซึ่งพ่อ-แม่จะไม่เข้ามายุ่ง ด้วยเหตุที่ไม่ชำนาญหรือไม่รู้ในเรื่องนั้น หากทำได้สำเร็จจะเป็นแนวทางให้เกิดความไว้วางใจให้เข้ามาทำงานในธุรกิจมากขึ้น
          -หรืออาจมีอีกทางคือ เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ อย่าเพิ่งเข้าไปช่วยกิจการในทันทีแต่ให้ไปทำงานกับธุรกิจอื่นก่อนพอให้เห็นว่าเราทำงานเป็นตัวตนได้ มีหน้าที่การงานระดับหนึ่งแล้วค่อยกลับเข้ามาช่วยกิจการก็เป็นอีกวิธีที่นิยมทำกัน

          เรื่องธุรกิจครอบครัว ในลักษณะนี้เป็นเรื่องที่เกิดอยู่ตลอดเวลา จะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับรุ่นพ่อ-แม่ยอมรับรุ่นลูกเร็วน้อยแค่ไหน และรุ่นลูกได้พิสูจน์ฝีมือตนเองได้เร็วแค่ไหนอีกด้วย

          ผมเอาใจช่วยให้สามารถทำงานร่วมกันได้ระหว่าง คน 2 รุ่นครับเพราะเป็นความสำเร็จที่ต้องอาศัยเวลาและความเข้าใจระหว่างกันครับ
                           

             
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาธุรกิจอิสระ
กรรมการบริหารหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลผู้บริหารระดับกลาง
สถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  
email: drdanait@gmail.com
         Line ID: thailand081