Monday, February 22, 2010

Who is the real hero of Thai economic : ใครคือฮีโร่ตัวจริงของประเทศ


Who is the real hero of Thai economic ?


รากฐานของธุรกิจในโลกใบนี้ทุกท่านคงเห็นด้วยกับผู้เขียนว่า เกิดมาจากธุรกิจครอบครัว (Family Business : FB) และจะใหญ่โตปานใดก็ตามยังไงความเป็นครอบครัวก็ยังคงมีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังนั้นไม่ว่าเราจะนิยามธุรกิจอย่างๆ อาทิ ธุรกิจขนาดเล็กมากๆ เช่น ธุรกิจชุมชนที่มีชื่อเสียงโก้หรูว่า “OTOP” หรือขยับขึ้นมาเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ธุรกิจ SMEs แล้วก็ขยายต่อไปเป็นธุรกิจขนาดกลางจริงๆ ขนาดใหญ่รวมทั้งธุรกิจข้ามชาติทั้งหมดนี้ยังมีความเป็นธุรกิจครอบครัว ไม่ว่าจะเต็มรูปหรือเพียงบางส่วน

คำถามที่เกิดขึ้นในเชิงของการพัฒนาธุรกิจเพื่อการแข่งขันของประเทศ ทำไมจึงไม่ศึกษาหรือค้นคว้าให้ลึกซึ้งถึงพัฒนาธุรกิจครอบครัว (FB) อย่างแท้จริง

คำว่า ธุรกิจครอบครัวหรือ FB นี้ไม่มีความจำเป็นต้องนิยาม เพราะเมื่อพูดปุ๊ปเข้าใจปั๊ปได้ทันที หรืออาจจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ในภาษาชาวบ้านคือ พ่อ-แม่-ลูก-เครือญาติมาร่วมกันทำธุรกิจหรือทำมาค้าขาย เช่น แม่บ้านที่อยู่ว่างๆ ภายหลังจากเสร็จภารกิจทั้งดูแลครอบครัว ส่งลูกไปโรงเรียนเรียบร้อยแล้วจะมีเวลาว่างช่วงประมาณ 9.00-15.00 น. ก่อนที่จะมีภารกิจอีกครั้ง คิดที่จะรับสินค้ามาเปิดขายหน้าบ้านซึ่งพอดีมีที่ว่างให้มีรูปแบบคล้ายๆ มินิสโตร์ปรากฏว่าเมื่อเปิดขึ้นคนในหมู่บ้านมาซื้อกันมากมายเลยปรับกิจการใหม่ทำเต็มตัวตั้งแต่เช้า-เที่ยงคืน ขายทุกวัน พ่อที่ทำงานประจำพอตกเย็นก็มาช่วย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อธุรกิจมีการพัฒนามากขึ้น ความเป็นธุรกิจครอบครัวก็อาจจะถอยออกมาแล้วให้มือปืนรับจ้างเข้ามาบริหาร หรือพัฒนาจนกลายเป็นธุรกิจมหาชนที่มีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่รู้จักกันตั้งแต่ซื้อหุ้นลงทุน และเมื่อมีสัดส่วนที่เพียงพอก็ได้รับการเลือกเข้ามาบริหารกิจการในต่างประเทศ

วาร์ด (Ward, 2005; Unconventional Wisdom) ได้สรุปถึงความแตกต่างระหว่างธุรกิจครอบครัวและที่ไม่เป็นธุรกิจครอบครัวไว้ดังนี้
*ธุรกิจครอบครัวหรือ FB จะมีลักษณะดังต่อไปนี้

- มีจุดประสงค์ที่เป็นลักษณะต่อเนื่อง
- มีเป้าหมายในการปกป้องรักษาไว้ซึ่งสินทรัพย์และความเป็นตัวแทนของลักษณะครอบครัวเจ้าของ
- ความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของ FB ในอันดับแรกคือ การป้องกันความเสี่ยงในการล้มหายตายจากไปของธุรกิจ
- ลักษณะของกลยุทธเป็นรูปแบบของการปรับเปลี่ยนให้อยู่ได้
- จุดมุ่งของการจัดการจะอยู่ที่ การเพิ่มขึ้นในการด้านการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- สิ่งที่สำคัญที่สุดของหุ้นส่วนธุรกิจคือ ลูกค้าและพนักงาน
- มองความเป็นธุรกิจประดุจดังสถาบันทางสังคม
- ความเป็นผู้นำคือ การเป็นผู้รับใช้

ขณะเดียวกันธุรกิจที่ไม่ใช่ FB หรือไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป เช่น
-จุดประสงค์คือ ทำให้ได้ประโยชน์สูงสุดหรือใกล้เคียงกับคำที่ว่าราคาหุ้น
-เป้าหมายที่สำคัญคือต้องการบรรลุถึงซึ่งความคาดหวังของสถาบันหรือผู้ลงทุน
-ความเชื่อที่เป็นพื้นฐานของธุรกิจ คือสัญญาที่จะตอบแทนตามความเสี่ยงให้มากที่สุด
-กลยุทธการดำเนินธุรกิจมุ่งเน้นที่การเติบโตอย่างมั่นคง-จุดมุ่งการจัดการคือ นวัตกรรม
-สิ่งสำคัญที่สุดของหุ้นส่วนธุรกิจคือ ผู้ถือหุ้นและฝ่ายจัดการ
-มองความเป็นธุรกิจประดุจดังอำนาจในการใช้สินทรัพย์
-ความเป็นผู้นำคือ บารมีส่วนบุคคล

*แนวคิดในโมเดลธุรกิจครอบครัวการศึกษาด้านธุรกิจครอบครัวหรือ FB อย่างยาวนานในต่างประเทศ
โดยเฉพาะวาร์ด (2005) ได้สรุปให้เห็นถึงโมเดลธุรกิจ FBได้ใน 4 องค์ประกอบไม่ว่าจะเป็น

1.องค์ประกอบแรก ครอบครัวที่เข้ามารับผิดชอบดูแลกิจการตั้งแต่รุ่นผู้ก่อตั้ง (Founder) หรืออาจะเรียกว่า รุ่นที่ 1 (1st Generation) รุ่นที่ 2 (2nd Generation) ที่จะมีความรู้ความสามารถใกล้เคียงกับรุ่นพ่อ-แม่หรือรุ่นที่ 1 เพราะใกล้ชิด เห็นความเป็นมาของธุรกิจ แต่จะมีปัญหาในรุ่นที่ 3 (3rd Generation) ซึ่งเป็นรุ่นหลานเพราะห่างไปแล้วและพ่อ-แม่ (รุ่นที่ 2) ก็ไม่อยากให้ลำบากเหมือนตนเอง ทำให้มีประโยคที่ว่าธุรกิจครอบครัวอยู่ได้ไม่เกิน 3 รุ่นก็ล่มสลาย
2.องค์ประกอบต่อมาคือ ธุรกิจหรือการจัดการมีความสำคัญและจำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาธุรกิจ FB ให้ดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง
3.องค์ประกอบที่ 3 คือความเป็นปัจเจกบุคคลหรือลักษณะของผู้นำครอบครัวที่เข้ามาบริหารกิจการว่ามีคุณลักษณะอย่างไร
4. องค์ประกอบสุดท้ายคือ ความเป็นเจ้าของ สิ่งนี้จะมีผลต่อกลยุทธ วัฒนธรรม ความสำเร็จและการบริหารจัดการซึ่งเป็นแหล่งของความภูมิใจที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องหรือเป้าหมายด้านการดูหมิ่นเยาะเย้ยจากภายในครอบครัว

ดังนั้นความสำเร็จของธุรกิจครอบครัวหรือธุรกิจ FB คือ ฮีโร่ตัวจริงของประเทศ ถ้าท่านได้มีโอกาสดูการสัมภาษณ์ของ CNBC ในรายการ Managing Asia มีน้อยครั้งที่โทรทัศน์ช่องนี้จะสัมภาษณ์ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย แต่เมื่อบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ก็ได้รับความสนใจทันที

คำถามที่น่าสนใจของพิธีกรหญิงในรายการนี้เช่น
-ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จในไทย จะมีกลยุทธไปแข่งขันในภูมิภาคนี้หรือตลาดในจีนที่แข่งขันสูงได้อย่างไร
-ธุรกิจที่เป็น Blue Business (ธุรกิจน้ำเมา) จะมีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร เป็นต้นซึ่งในบ้านเราถ้าศึกษากันอย่างจริงๆ จังๆ ในธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะในธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ตามที่บ้านเราเรียกว่า SMEs นั้น ต่างประเทศชี้ว่า มีประเภทธุรกิจที่โดดเด่นในการที่ไปแข่งขันในเวทีโลกได้คือ
1) ธุรกิจซัพพลายเออร์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะ
2) ธุรกิจแห่งนวัตกรรม เช่น ธุรกิจ Superstar ธุรกิจที่เน้นเทคโนโลยี หรือเป็นธุรกิจที่มีใครทำได้ยาก
และ 3) ธุรกิจซัพพลายเออร์ที่กุมตลาดหลักทั้งหมดนี้เป็นทิศทางของธุรกิจโลกที่กำลังมุ่งไปกันโดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ๆ สำหรับธุรกิจ SMEs บ้านเราหรือธุรกิจ OTOP มีทิศทางอย่างไร ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างไรหรือไก่กา


วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com



No comments:

Post a Comment