Tuesday, February 23, 2010

ธุรกิจครอบครัวควรคิดถึงอะไร (2) : What should Family Businesses be thinking about in 2009(2)

ในคราวที่ก่อนได้หยิบยกประเด็นที่ธุรกิจครอบครัวต้องคิดถึงในปี 2009 ทั้งปัจจัยด้านธุรกิจ เช่น การดำเนินการด้วยเทคโนโลยี การดึงดูดรักษาให้ผู้บริหารที่เก่งซึ่งไม่ใช่คนในครอบครัวและการขาดระดับพนักงานที่มีคุณภาพ กับปัจจัยด้านครอบครัว อาทิ การเลือกและตระเตรียมทายาทกับค่าตอบแทนพนักงานที่เป็นสมาชิกครอบครัว เป็นต้น

ขณะเดียวกันในสภาพของเศรษฐกิจประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้มีสิ่งที่ผู้บริหาร-ธุรกิจหรือเจ้าของกิจการจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ในบริบทของโลกการแข่งขันที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น
: บรรดาข้อมูลข่าวสารที่บรรดา "ทัศนะวิจารณ์" ต้องระวังให้มาก ตัวอย่าง กรณีที่ชอบพูดกันมากว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากซับไพรม์ (ปัญหาสินเชื่อด้อยมาตร-ฐาน) จะขยายวงมาถึงประเทศไทยหลังเดือน มิถุนายน 2551 สิ่งที่ต้องคิดให้มากคือ 1) เศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ หมายถึง มีมูลค่ามากหรือประมาณ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นถ้ามีผลกระทบในสภาพที่เป็นโลกาภิวัฒน์ ควรจะส่งผลทันทีไม่ใช่ค่อยๆ เกิดเป็น "เต่าคลานต้วมเตี้ยม" 2) ธนาคารไทยที่ไปลงทุนและจะได้รับผลกระทบจากซัมไพรม์นั้นมีอยู่ 4 ธนาคาร ซึ่งถ้ารวมส่วนแบ่งตลาดการเงิน อย่างมากที่สุดน่าจะไม่เกินร้อยละ 8-10 ของตลาดเงินในประเทศ ซึ่งธปท.คงจะดูอยู่โดยเฉพาะการเพิ่มทุนให้ครอบคลุมหนี้หรือสินทรัพย์ให้เพียงพอตามมาตรฐานที่ทางการกำหนด ผลกระทบถ้ามีจริงคงเกิดตั้งแต่แรกแล้วละครับ! ไม่รอจนครึ่งค่อนปีหรอก ไม่รู้ว่าที่พูดกันนั้นจริงหรือพูดเอามันส์!!!
: อุตสาหกรรมในประเทศที่แข็งแรงโดยเฉพาะสมาคมทางการค้าของไทย น่าจะเปลี่ยนบทบาทในการดำเนินการหรือทิศทางการทำงานใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นลักษณะทำตาม "นิ้วชี้ที่มองไม่เห็น" หรือ "ตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนด" ดังนั้นบทบาทของสมาคมทางการค้าหรืออุตสาหกรรมที่ควรทำคือ การชี้แนะและกำหนดทิศทางของการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศมากกว่าแต่ก่อนและต้องผลักดันให้ภาครัฐสนับสนุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน หรือโครงสร้างพื้นฐานมากกว่าที่จะมาชี้นำว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมควรไปทางไหน เพราะเท่าที่ผ่านมาเกือบทศวรรษนี้ประเทศไทยดูวังเวงและแทบจะแข่งขันอะไรไม่ได้เลยกับประเทศในเอเซีย
การเตรียมพร้อมสู่ปี 2009 ธุรกิจครอบครัวไทยจึงควรเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเติบโตไปในอนาคตโดย-เฉพาะในปัจจัยทางธุรกิจและปัจจัยด้านครอบครัว โดยผู้เขียนพัฒนามาจาก "การปรับเปลี่ยนธุรกิจครอบครัวและองค์กร" ของ Prof. K. Ramachandran (ISB Hyderabad) ที่มองธุรกิจครอบครัวซึ่งมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนในปัจจัยทางธุรกิจและปัจจัยด้านครอบครัวด้วยสมรรถภาพของการจัดการครอบครัวและการจัดการธุรกิจในการปรับเปลี่ยนภายใต้ (1) ความจำเป็นที่จะต้องมุ่งเน้นการแข่งขันด้วยการสร้างทายาท ภาวะผู้นำ กลยุทธและความเป็นผู้ประกอบการ (2) เข้าใจบริบทของสภาพแวดล้อมการแข่งขันในด้าน PEST (การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยี) และ (3) ต้องวางทิศทางสู่ความสำเร็จด้วยทายาท การแบ่งปัน ความยืดหยุ่นและการดูแลสังคม




ในรายละเอียดด้านธุรกิจ (Business) เมื่อธุรกิจก้าวจากระยะที่ 1 สู่ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นระยะวิกฤต การกำหนดกลยุทธโครงสร้าง ระบบ กระบวนการ การสร้างคุณค่าที่ซับซ้อนขึ้นนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยสมรรถภาพการจัดการธุรกิจของธุรกิจครอบครัวในการปรับเปลี่ยนจากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ส่วนด้านครอบครัว (Family) การส่งต่อธุรกิจจากรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2 จะเป็นระยะวิกฤตซึ่งจะต้องสร้างความสัมพันธ์ภายในที่ซับซ้อน (โครงสร้าง) มุ่งเน้นกลยุทธด้านคุณค่าในการปฏิบัติและระบบที่ซับซ้อนโดยอาศัยสมรรถภาพการจัดการครอบครัวของธุรกิจครอบครัวในการปรับเปลี่ยน ทั้งหมดนี้จะทำให้ธุรกิจครอบครัวไทยก้าวข้ามวิกฤตของธุรกิจในระยะที่ 2 และธุรกิจครอบครัวในรุ่นที่ 2 ได้พร้อมๆ กันไปสู่ระยะที่ 3 และ 4 หรือรุ่นที่ 3 และรุ่นที่ 4 ได้อย่างราบรื่น


วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com


No comments:

Post a Comment