Friday, September 23, 2011

ความหมายของคำว่า ธุรกิจครอบครัว

                                                                  White House 101


     ผู้เขียนเห็นว่าในปัจจุบันมีการศึกษาและผู้ให้ความสนใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 1-3 ปีนี้  อีกทั้งหนังสือการวิจัย "เจาะ ดี เอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทย" มีผู้สอบถามและขอซื้อติดต่อมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึง นักศึกษา MBA (คนไทย) ในต่างประเทศมีติดต่อขอซื้อมาเช่นกันทำให้ประเมินว่า "โดน ๆๆ " 

     คำว่า "ครอบครัว (Family)"  เป็นคำหนึ่งที่อาจต้องนิยามให้ชัดเจนเพราะมิฉะนั้นอาจทำให้คลาดเคลื่อนต่อผลการศึกษา
     แต่ก็นั่นแหละครับ  มักหาข้อตกลงร่วมไม่ได้ว่า ธุรกิจครอบครัวจะมีความหมายที่ชัดเจนอย่างไร เพราะว่าขอบเขตของธุรกิจครอบครัวนั้นกว้างมากตั้งแต่ ร้านขายของเล็ก ๆ ไปจนถึงระดับองค์กรที่ควบคุมโดยครอบครัว
      เท่าที่ผู้เขียนทบทวนวรรณกรรมมา เช่น
      Harder (1989 อ้างจาก ดร.ดนัย เทียนพุฒ (2552) เจาะ DNA ธุรกิจครอบครัวไทย:56) บอกว่า ธุรกิจครอบครัวประกอบด้วย 4 มิติที่ผสมกันระหว่าง 
       มิติแรก สัดส่วนความเป็นเจ้าของ และการจัดการธุรกิจของสมาชิกครอบครัว 
       มิติที่สอง ระบบย่อยความสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ 
       มิติที่สาม การส่งผ่านการสืบทอดธุรกิจครอบครัว
       มิติที่สี่ ปัจจัยเงื่อนไขต่าง ๆ 
      ธุรกิจครอบครัว สามารถให้ความหมายง่าย ๆ ซึ่ง Leach (2007) สรุปไว้ว่า "เป็นการมีอิทธิพลโดยครอบครัวหรือโดยความสัมพันธ์ของครอบครัว และแต่ละคนรับรู้ว่าเราเป็นธุรกิจครอบครัว"
       กูรูด้านธุรกิจครอบครัว คือ Ward (2005)ให้ความหมายไว้ว่า "ธุรกิจครอบครัวเป็นกิจการที่มีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีการจัดการและการควบคุม มีวิวัฒนาการของครอบครัวเป็นสิ่งกำหนดความซับซ้อนและการเติบโตของธุรกิจครอบครัว"
       และนิยามของ Ward เป็นนิยามที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด 
       การวิจัย ในปี 2552 ของผู้เขียนจึงนิยามว่า ธุรกิจครอบครัว คือ กิจการที่มีการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นอย่างมีการจัดการและการควบคุม มีวิวัฒนาการของครอบครัวเป็นสิ่งกำหนดความซับซ้อนและการเติบโตของธุรกิจครอบครัว

      ในปี 2554 ได้พัฒนานิยาม ธุรกิจครอบครัวใหม่จากของ Ward และ Stockholm School of Economics สำหรับการวิจัยล่าสุด (กำลังดำเนินการ) ว่า 
      ...ธุรกิจครอบครัว คือ ธุรกิจที่ควบคุมโดยครอบครัวและต้องมีคุณลักษณะ อย่างน้อย 1 ใน 3 ดังนี้
         1) จำนวน 3 หรือ มากกว่าของสมาชิกครอบครัวอยู่ในกิจการ
         2) รุ่นที่ 2 หรือมากกว่าของครอบครัวควบคุมกิจการ
         3) รุ่นปัจจุบันมีความตั้งใจที่จะส่งต่อกิจการไปอีกรุ่น


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com
Line ID : thailand081

Thursday, September 15, 2011

การสืบทอดธุรกิจครอบครัว



การสืบทอดธุรกิจครอบครัวดูเป็นประเด็นที่ "ธุรกิจครอบครัว"  แทบทุกธุรกิจให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
แล้วอะไรคือ หัวใจ หรือ สิ่งสำคัญในเรื่องดังกล่าว

สิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่
---การเข้าอบรมตามโปรแกรมสัมมนา จำนวนมากที่ต่างบอกว่า เป็นการ ปั้นและส่งต่อธุรกิจครอบครัว
--การอ่านบทความตามนิตยสาร หนังสือพิมพ์ เพื่อหาว่่าจะเจอเคล็ดลับ หรือสุดยอดวิทยายุทธ
--ไปไกลกว่านั้น ต้องไปเรียน หลักสูตรที่สถาบันการศึกษา จัดเป็นหลักสูตรปริญญาโดยเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจครอบครัว
--บางคนถึงกับข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกล ๆ  สมดังคำโบารณที่ว่า ..อันวิชานั้นมีค่าอยู่แดนไกล ต้องยากลำบากไปถึงได้มา...(ทำให้นักการศึกษาที่กำหนดนโยบายในปัจจุบันจึงทนไม่ได้กับ คนที่จบปริญญาในบ้านเรา เพราะไม่ได้ยากลำบากไป ....)

ผู้เขียน เห็นว่า อาจเป็นเพียงบางหนทางแต่คงไม่ใช่ 100%

นายห้างเทียม โชควัฒนา อดีตผู้ก่อตั้ง เครือสหพัฒน์ บอกไว้ว่า.  การเป็นบริษัทครอบครัวนั้นอะไร ๆ ก็ขาดระบบ เงินทองใครอยากหยิบก็หยิบ อยากทำอะไรก็ทำ ปากเสียงเกิดขึ้นได้โดยง่าย และมักจะแตกร้าวในที่สุด หากแยกเรื่องครอบครัวออกไปจากบริษัทเสียได้ ความรักใคร่ เคราพปองดองระหว่างพ่อแม่ลูก และพี่ ๆ น้อง ๆ ก็จะอยู่ได้นาน ...(หนังสือ  ธุรกิจ  จากบันทึกความทรงจำ ดร.เทียม โชควัฒนา, 2554:228)

จากการวิจัยของผู้เขียนการสืบทอดธุรกิจครอบครัวนั้นมีวัฎจักรอยู่ 3ระยะด้วยกันคือ
ระยะที่1  การปฏิบัติ
   -ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อลูก
   -การมีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมธุรกิจ
  -การเน้นความเป็นมืออาขีพ
-วัฒนธรรมของผู้ก่อตั้งธุรกิจ
ระยะที่ 2 การชี้นำสู่การปฏิบัติ
 -ความสัมพันธ์แบบผู้ใหญ่-ผู้ใหญ่
 -ความพยายามดิ้นรนเข้าควบคุมกิจการ
 -การเน้นความเป็นผู้นำ
 -วัฒนธรรมธุรกิจครอบครัว
ระยะที่ 3 การอนุญาตให้ปฏิบัติ
 -ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่-ลูก
 -วิสัยทัศน์ธุรกิจเปรียบเทียบกับการควบคุมธุรกิจ
 -เน้นการบริหารจัดการที่ดี
 -วัฒนธรรมของการสืบทอดภาวะผู้นำ
(อยู่ในหนังสือ เจาะดี เอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทย หน้า 308-312)



Sunday, July 24, 2011

ธุรกิจครอบครัว ..รูปแบบการก่อตั้งธุรกิจ

                                     

        การเริ่มต้นธุรกิจเรามักจะเรียกพวกกล้าเสี่ยงและริเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจว่า "ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)" และคุณลักษณะความสามารถที่จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จคือ "ความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)" สิ่งที่เป็นความสับสนอย่างหนึ่งของธุรกิจโดยทั่วไปหรือ ธุรกิจครอบครัวเกี่ยวกับ "ผู้ก่อตั้งธุรกิจ (Founder)" กับผู้ประกอบการ (Entrepreneur)"
     ในวันนี้ ผู้เขียนจะขอทำความเข้าเกี่ยวกับ ผู้ก่อตั้งธุรกิจ
      ความหมาย: ผู้ก่อตั้งธุรกิจ
      Davis (1990: อ้างจาก Leach ,2007) กล่าวว่า นักวิจัยด้านธุรกิจครอบครัวในสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นถึงตวามแตกต่างระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ก่อตั้งธุรกิจไว้ดังนี้
     "ผู้ก่อตั้งธุรกิจครอบครัวทุกคนเป็นผู้ประกอบการ  แต่ไม่ใช่ผู้ประกอบการทั้งหมดจะกลายเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจ
      ผู้ก่อตั้งธุรกิจโดยปกติจะเป็นผู้ที่มีสัญชาตญาณ และการโน้มน้าวใจคน ที่พบอย่างชัดเจนคือ มีแรงขับและความทะเยอทะยานที่จะสร้างธุรกิจที่ยิ่งใหญ่และยังมีความรู้สึกเกี่ยวกับสถานที่ รักในสิ่งที่เขาได้สร้างขึ้นมา จนทำให้เขาต้องการให้ธุรกิจนั้นประสบความสำเร็จและสามารถส่งผ่านไปยังรุ่นต่อไปได้ตราบนานเท่านาน"
    รูปแบบของผู้ก่อตั้งธุรกิจและผู้ประกอบการ
    รูปแบบของผู้ก่อตั้งธุรกิจ ผู้เขียนได้ศึกษาไว้มีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ  รูปแบบเจ้าของกรรมสิทธิ์ (Proprietors)  รูปแบบผู้ควบคุมกิจการ( Conductors) และรูปแบบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Technicians)
   และรูปแบบของผู้ประกอบการ  มีอาทิ  ผู้ก่อตั้งธุรกิจ  ผู้รับสัมปทานสิทธิ ผู้ลงทุนที่มีศักยภาพสูง  ธุรกิจขนาดเล็กที่ดึงดูดการลงทุน  วิสาหกิจขนาดเล็ก  ธุรกิจไลฟ์สไตล์ ทีมความเป็นผู้ประกอบการ  และผู้ประกอบการแบบช่างฝีมือ

   สำหรับในรายละเอียด ขอมาเล่าต่อในคราวหน้าครับ


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ
บจก.ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์
โทร 029301133
email: drdanait@gmail.com

Sunday, June 12, 2011

ทศวรรษแห่งความท้าทายต่อธุรกิจครอบครัว-ดร.ดนัย เทียนพุฒ


ความสนใจในธุรกิจครอบครัวไทยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับใช้ได้ เพราะมีหลายคนเริ่มพูดถึง"ธุรกิจครอบครัวไทย"  และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น "การวิจัยธุรกิจครอบครัวไทย" มีพลวัตที่มากขึ้น นั่นหมายความว่า ผู้นำของธุรกิจครอบครัวเริ่้มเห็นคุณค่าและประโยชน์โดยการเปิดให้บุคคลภายนอกเข้าไปศึกษาธุรกิจ

ผู้เขียนรู้จัก กลุ่มบริษัทดัชมิลล์มานานอาจจะพูดได้ว่า ใกล้ชิดพอสมควรเมื่่อ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา
และวันที่ 11 มิ.ย.54  ได้รับเชิญให้ไปบรรยายหัวข้อ  "ค้าปลีก: ผลกระทบและการปรับตัวของ DMA (เอเย่นต์ดัชมิลล์) " ได้พูดถึงค้าปลีกโลกและไทย ในด้าน การเติบโต  ผลกระทบ และทิศทางกลยุทธ เน้นโดยเฉพาะ TESCO  และ CASINO-BIG C ที่ผ่านมาและอนาคต  พร้อมทั้ง การปรับ เอเย่นต์ให้เป็น ---> High-Performance DM Agents"

สิ่งที่ผู้เขียนอยากเล่าให้ฟังคงเป็นเรื่องของ การดำเนินธุรกิจครอบตรัวมากกว่า รายละเอียดเนื้อหาที่บรรยาย แต่เป็นสิ่งที่ผู้เขียน กำลังมองธุรกิจครอบครัวที่เติบกล้าเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ซึ่งมีความท้้าทายใหม่เกิดขึ้นในด้านธุรกิจครอบครัว เลยอดคิดไกล ๆ ต่อธุรกิจครอบครัวไทย ที่เติบโตแบบนี้ไม่ได้

ความท้าทายอย่างแรก การที่ธุรกิจเติบโตมาได้อย่างยาวนานและเป็นผู้นำตลาดในแบรนด์สินค้า  สิ่งนี้คงไม่เป็นที่กังขาเพราะ ผลลัพธ์ทางการตลาดมีอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่น่าคิดในด้านธุรกิจคือ
     -องค์กรเมื่อใหญ่ขึ้น กลุ่มผู้ถือหุ้นและเจ้าของ จะมีใครเข้าดูแลกิจการ หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า ความพร้อมทั้ง รุ่นทายาทของเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้น เนื่องจากกิจการมีขนาดใหญ่ แตกไลน์ธุรกิจไปกว้างมากขึ้น คนที่เป็นทายาทที่จะเข้ามากุมบังเหียนธุรกิจ ต้องสะสมประสบการณ์ และมีบารมีมากพอที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ  ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้เพียง "ชั่วลัดนิ้วมือ"
     หากไม่สามารถทำได้ การมองทิศทางของธุรกิจใน "ลู่วิ่ง หรือวิสัยทัศน์เดียวกันคงทำได้ไม่ง่ายนัก" เพราะผู้บริหารที่มีอยู่ในแต่ละ หน่วยธุรกิจ (Business Units) ต่างก็ถูกจ้างเข้ามาและอาจจะไม่ฟังซึ่งกันและกัน

ความท้าทายอย่างที่ สอง  ธุรกิจครอบครัวไทย คงต้องยอมรับว่าในการสร้างบรรดา "ขุนศึกหรือแม่ทัพ (Warlords) " ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน ดังนั้นการจ้างมืออาชีพจากหลากหลายธุรกิจจึงเดินเข้าสู่บริษัท คงนับได้เป็นระยะทางได้หลายหมื่นลี้ทีเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้าของธุรกิจ ได้เห็นและพบอย่างต่อเนื่องคือ
    -วัฒนธรรมและเครื่องมือของการจัดการ กลยุทธ การตลาด จากภายนอก ทั้งข้ามชาติและท้องถิ่น  การที่จะปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน   อีกทั้งยังถูกคนเก่าในองค์กรท้าทาย ไปพร้อมกันด้วย จึงทำให้องค์กรเกิดการสูญเสีย และทิศทางธุรกิจ  กลยุทธ จึงปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา "เป็นเหมือนดั่งวังวน  หรือเปรียบประดุจดังวิ่งไล่งับเงาตัวเอง"
     ความเสร็จในการบูรณาการประเด็นดังกล่าวอยู่ที่ "เจ้าของธุรกิจ หรือ แม่ทัพใหญ่ของบรรดาขุนศึกทั้งหลาย"  ซึ่้งคือ "ความเป็นผู้นำ" นอกจากจะมีอำนาจในการให้คุณให้โทษได้แล้วยังต้องมีบารมีแผ่ไพศาล ทั้งภายในและภายนอกที่ทำให้ คู่แข่งยอมสยบด้วย

ความท้าทายอย่างสุดท้าย  ธุรกิจที่ต้องขายหรือดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ผ่านตัวแทนจำหน่าย หรือเอเย่นต์ ซึ่งเป็นเสมือนคู่ค้า ตามที่มักเข้าใจกัน แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
จากการศึกษาธุรกิจครอบครัวไทยของผู้เขียน เอเย่นต์เป็นมากกว่าคู่ค้า ครับ แต่เป็น "ครอบครัว" นี่เป็นสิ่งที่ "ธุรกิจครอบครัวไทย" ยังไม่เข้าใจดีพอ หรือ มองทะลุไม่ถึง
  - ถ้าเอเย่นต์เป็นดังครอบครัว ธุรกิจจะปฏิบัติต่อเอเย่นต์อย่างไร
  - Area Managers หรือจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม หากไม่เข้าใจมิตินี้ ก็จะกลายเป็น เหมือน การไปไล่บี้ยอดขาย  การเป็นเจ้านาย  ฯลฯ  ...สิ่งเหล่านี้ ยิ่งทำให้เอเย่นต์ยืนคนละฝั่งกับบริษัท อาจไม่ใช่คู่ค้าแต่เป็นคู่แค้น

    จึงต้องมีประสบการณ์เพียงพอ  ประสบการณ์ก็ยังมิอาจเทียมเท่า "บารมี" ครับ เมื่อท่านเดินเข้าไป ท่านจะรู้ได้เองครับ ว่า มีความแตกต่างระหว่าง "เอเย่นต์ยกมือไหว้ท่าน หรือท่านยกมือไหว้เอเย่นต์"  นี่ละครับที่เรียกว่า บารมี มิฉะนั้น การนำทัพออกสู่สนามค้าปลีกในเซ็กเมนต์นี้ คงเห็นพอจะเห็นภาพสุดท้าย ได้ว่าจะจบอย่างสวยงามหรือไม่

นั่นคือ แวบหนึ่งในช่วงหนึ่งวันที่ได้มีโอกาสเข้าไปบรรยาย  เลยทำให้อดคิดที่จะมองไกลออกไปยัง ธุรกิจครอบครัวไทยในปัจจุบันไม่ได้


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ
บจก. ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์
โทร 029301133
email: drdanait@gmail.com

Friday, May 13, 2011

Breakthrough THAI FAMILY Businesses DNA (Abstract)


เนื่องจากมีผู้สนใจและสอบถาม รวมถึงขอซึ้อ หนังสือ เจาะดีเอ็น เอ ธุรกิจครอบครัวไทย มาอยู่อย่างต่อเนื่องและโดยเฉพาะ นักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่างประเทศที่สนใจทำวิจัยในเรื่องนี้ 
ผู้เขียนได้จัดทำ บทคัดย่อ (Abstract) สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานประกอบบทความที่เคยตีพิมพ์ก่อนหน้านี้ไม่ได้เขียนไว้  ซึ่งผู้เขียนนำมารวมไว้ด้วยกัน

Abstract :  Breakthrough THAI FAMILY Businesses DNA

Breakthrough THAI FAMILY Businesses DNA

Thursday, April 28, 2011

สร้างผู้ประกอบการใหม่ VS การตายของธุรกิจครอบครัวไทย(ธุรกิจ SMEs)รอบ 10ปีที่ผ่านมา







ตามข่าว  เราจะมีผู้ประกอบการใหม่ 2.5 แสนรายใน 5ปี 
...ปลัดกระทรวงอุตสาห กรรม เปิดเผยว่า ในวันที่ 28 เม.ย. จะเสนอร่างแผนการส่งเสริมเอสเอ็มอีฉบับที่ 3 (55-59) ให้ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณา เน้นสร้างเอสเอ็มอีรายใหม่ที่มีศักยภาพให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไม่น้อยกว่า  2.5 แสนราย หรือปีละ 5 หมื่นคน จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว 2.9 ล้านราย เพื่อรองรับการแข่งขันธุรกิจที่มีสูงมาก โดยเฉพาะในปี 58 จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (อ้างจาก เดลินิวส์ออนไลน์ http://goo.gl/dG9ko)


*****
ผู้เขียนมีสถิติที่เพิ่งวิเคราะห์เสร็จไม่นานเท่าไหร่ ของธุรกิจครอบครัวไทย หรือ ธุรกิจ SMEs ไทย ในการดำเนินธุรกิจตั้งเกิด แก่ เจ็บตาย ว่าเป็นอย่างไร ในแต่ละช่วงปี โดยตลอด 10ปี ที่ผ่านมา(เป็นข้อมูลในการทำวิจัยเรื่องใหม่ ของผู้เขียน-โครงการวิจัยการพัฒนาความสามารถหลัก(Core Competencies) สู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจครอบครัวไทยที่ยั่งยืน)


  1)ในภาพแรกได้วิเคราะห์ให้เห็นตั้งแต่ปี 2455 เริ่มจดทะเบียนธุรกิจ จนถึงปี 2540 มีธุรกิจรอดจำนวน 81.6 % อัตราตายแค่ 18.4 %  
     และปี 2541-ปี 2550 เป็นการดูในช่วงวิกฤตของประเทศไทย อัตรารอดของธุรกิจไทยในช่วง 10 ปี มีธุรกิจรอด 40.9% และอัตราตาย 59.1% 
     สุดท้าย เป็นการตัดช่วงวิกฤตออก (ปี 2539-ปี 2543 โดยเฉพาะปี 2543 ตายเกิน 100%)   ว่า ในช่วง 10ปี ปี 2544-ปี 2553 มีธุรกิจรอด 27.7% อัตราตาย 72.3%  โดยเน้นรายช่วงปีด้วย
ใน ภาพที่  2เป็นการวิเคราะห์10 ปี ของปี 2541-2550 เน้นรายช่วง 1 ปี 3 ปี  5 ปี  8ปี และ 9 ปี มีการเกิด-ตายของธุรกิจเป็นอย่างไร

 ในภาพที่ 3 เป็นการวิเคราะห์ช่วง 10ปี ตั้งแต่ ปี 2544-2553 โดยดูแต่ละปี ว่าธุรกิจมีเกิด-ตายอย่างไรโดยเฉลี่ย แล้วอัตรารอดของธุรกิจไทย อยู่ที่ 27.7 %

จากข้อมูลข้างต้น ซึ่งเป็นของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ใช่ของ สสว. (ตัวเลขไม่เหมือนกันถือเป็นความเด่นของประเทศไทย) หากวิเคราะห์ตามแผนของกระทรวงอุตสาหกรรม 5 ปีมีผู้ประกอบการใหม่ 2.5แสนราย จะรอดประมาณ 6.9 หมื่นราย  น่าสนใจกว่านั้นคือ ทำอย่างไรจะให้รัฐมีแผนหรือ กลยุทธอะไรที่ทำให้ธุรกิจรอดมากกว่านี้  หรือ คิดแค่ช่วยสร้างกันอย่างเดียว


ท้าทายมากสำหรับรัฐบาลใหม่ ครับ ประเทศไทย


ดร.ดนัย เทียนพุฒ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ
บจก. ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์
โทร 029301133
email: drdanait@gmail.com

Monday, March 28, 2011

การสานต่อธุรกิจครอบครัว



สวัสดีคะ ดร.ดนัย เทียนพุฒ
 

    ดิฉันชื่อ นันทิดา สัจจะรัตนะโชติ กำลังศึกษาอยู่ปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยลีดส์คะ ประเทศอังกฤษ คณะบริหารธุรกิจ ตอนนี้กำลังต้องเตรียมทำวิทยานิพนธ์คะ กำลังเริ่มคิดหัวข้อวิทยานิพนธ์อยู่คะ สนใจหัวข้อที่เกี่ยวกับการสานต่อธุรกิจครอบครัวคะ อาจารย์เลยแนะนำว่า น่าจะสัมภาษณ์เจ้าของกิจการและผู้รับช่วงต่อบริษัทในประเทศไทย ประมาณ4/5บริษัท แล้วเอามาเปรียบเทียบการเตรียมพร้อมการสานต่อธุรกิจกับวรรณกรรมของทางตะวันตกที่เป็นข้อมูลทุติยภูมิคะ แต่เท่าที่ทราบมาบทความหรือการวิเคราะห์ที่เกี่บวกับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยยังมีน้อย และดิฉันกังวลว่าข้อมูลที่ไปสัมภาษณ์อาจจะไม่เพียงพอหรือดูมีน้ำหนักพอที่จะเอาไปเปรียบเทียบกับวรรณกรรมของทางตะวันตกคะ  เลยต้องขอรบกวน ดร.ดนัย ช่วยให้คำแนะนำว่าควรจะใช้Research methodology วิธีไหนดี และควรตั้งหัวข้อ และคำถามอย่างไรดีคะ 
                                                                                                                                                                                                ขอบคุณคะ

 นันทิดา สัจจะรัตนะโชติ 


**********************************
คำตอบ


ตามที่ได้คุยกันทางโทรศัพท์ ผมเห็นว่า 
อย่างแรกเลยครับ น่ายินดีที่สนใจจะศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไทย เนื่องเราทราบกันว่ามีการศึกษาน้อย และไม่ค่อยมีการเปิดเผยมากนัก


สิ่งต่อมา  มีอยู่ 2เรื่องที่ ต้องทำความเข้าใจ
 1) คุณนันทิดา ต้องปรับพื้นฐานและศึกษาแนวคิดของธุรกิจครอบครัวก่อน โดยเฉพาะ นักทฤษฎีหลัก ๆ ด้านนี้
    -หนังสือ Unconventional Wisdom
  หนังสือ Generation to Generation
  -  และ  หนังสือ Succeeding Generation

สำหรับในเมืองไทยมีงาน Dissertation เล่มหนึ่งได้ศึกษาแนวทางเรื่องนี้ไว้ด้วย เป็นของ ดร. สันติ สุวัณณาคาร
 -ดุษฎีนิพนธ์ชื่อ. “การพัฒนากระบวนทัศน์การสืบทอดธุรกิจครอบครัวไทยในอุตสาหกรรมเครื่องประดับทองคำ..

2) ในงานวิจัยของผมได้นำเสนอโมเดลการสืบทอดธุรกิจครอบครัวไทย อาจนำไป Match กับ การทำ Lit Review ของตะวันตก แล้ว ศึกษา กรณีคัวอย่างจากธุรกิจครอบครัวไทย

อย่างไรก็ตาม แนวทางการวิจัย  และระเบียบวิธีวิจัย จะมีไอเดีย เมื่อ ได้อ่าน หนังสือ 3 เล่มหลักนั้นก่อน
ซึ่งผมเชื่อว่า  งานที่ผมอ้างไว้ และ กรอบแนวคิดจากงานวิจัยของผมน่าจะพอที่เป็น Research conceptual framework สำหรับงานวิจัยของคุณนันทิดา

 ดร.ดนัย เทียนพุฒ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ
บจก. ดี เอ็น ที คอนซัลแตนท์
โทร 029301133
email: drdanait@gmail.com

Friday, March 25, 2011

ดร.ดนัย เทียนพุฒ : เปิดโมเดลธุรกิจของ "เพลินวาน"



ทุกคนสนใจ เกี่ยวกับธุรกิจ "ร้านเพลินวาน" ว่าเป็นมาอย่างไรจึงโด่งดัง ลือลั่นไปทั้งหัวหิน ...ลองติดตามชมและอ่านได้ครับ



วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 029301133  
email: drdanait@gmail.com

Monday, March 21, 2011

เรื่องราวของสถิติธุรกิจครอบครัว

เราพูดกันอยู่เสมอว่า "ธุรกิจครอบครัว (Family Business)" มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ แต่อีกนัยหนึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกด้วยซ้ำ

Poza (2010) ได้สรุปตัวเลขเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจ
1)ธุรกิจครอบครัวมีการจัดตั้งธุรกิจประมาณ  80-90 % ในเศรษฐกิจโลกเสรี
2) ธุรกิจครอบครัว มีการสร้าง รายได้ 49 %  ของ จีดีพีในสหรัฐอเมริกา
3)ธุรกิจครอบครัว สร้างรายได้ มากกว่า 75 % ของ จีดีพีในประเทศอื่น ๆ
4) ธุรกิจครอบครัวจ้างงาน 80 % ของกำลังคนในสหรัฐอเมริกา
5) ธุรกิจครอบครัว จ้างกำลังแรงงานมากกว่า 75 %   ของกำลังคนทำงานทั่วโลก
6) ธูรกิจครอบครัว สร้าง งานใหม่ ๆ ในสหรัฐอเมริกา 86 %
โดยสรุปรวมมี บริษัทในฟอร์จูน 500 ที่บริหารโดยครอบครัว จำนวน 37 %
       บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของ สหรัฐฯ เป็นธุรกิจที่บริหารโดยครอบครัว 60 %
        ในสหรัฐฯ ผลประกอบการของธุรกิจครอบครัวดีกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัว  6.65 %  ใน ผลตอบแทนด้านสินทรัพย์ ต่อปี  และ 10 % ของมูลค่าตลาด
        ในยุโรป ธุรกิจครอบครัว ผลประกอบการดีกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัว 8 % - 16 % ในผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น(ขึ้นอยู่กับกรณีที่ศึกษา)


ดร.ดนัย เทียนพุฒ 
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ

บจก.ดี เอ็น ที คอนซัลแตนทฺ์

 email:DrDanaiT@gmail.com
โทร 029301133

Monday, March 14, 2011

ผู้ประกอบการไทย : ผลวิจัยยืนยันโมเดลความสามารถหลัก (Core Competencies Model)


เกริ่นนำ
ตามที่ผุ้เขียนได้ทำวิจัยศึกษา "เจาะ ดีเอ็น เอ ของธุรกิจครอบครัวไทย (Breakthrough Thai Family Businesses DNA" (ปี 2552) โดยได้ผลการศึกษาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ
"โมเดลคุณลักษณะความสามารถของผู้ประกอบการไทย (A  Model of Thai Entrepreneurs DNA)"





ซึ่งในโมเดลที่เป็น "Core Competencies" นี้ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบของความสามารถหลักดังนี้

1.วิสัยทัศน์ธุรกิจ ประกอบด้วย
-ภาวะผู้นำ  เป็นลักษณะที่สามารถนำคนหรือลูกน้องบอกทิศทางในอนาคต หรือมองเห็นทางออกของธุรกิจ  หรือโอกาส รวมถึงมีคำตอบที่ลูกน้องต้องการ
-คิดการณ์ไกล เป็นการหยั่งหรือประมวลสภาพธุรกิจในอนาคตออกมาได้อย่างชัดเจน หรือเห็นภาพ หรือ จุดที่จะไปให้ถึงของธุรกิจ
-กล้าเสี่ยง หมายถึงหมกมุ่นต่อโอกาส เห็นวิธีการที่จะนำโอกาสมาสร้างธุรกิจได้อย่างมุ่งมั่น อดทน

2.ไฮเปอร์ฟอร์แมนซ์ ประกอบด้วย
-สนองตอบในทันที  หมายถึง มีความรวดเร็วหรือสามารถดำเนินการด้วยพลังอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้า  ผู้ใช้บริการหรือทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นก็ตาม
-มุ่งผลสำเร็จ  ทำงานโดยมีเป้าหมายที่สูงกว่ามาตรฐานของคนทั่วไป และพยายามผลักดันให้มีผลสำเร็จในทุกวิถีทางที่เหมาะสม
-กระหายต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นผู้ที่เหนือกว่าธรรมดา และกระหายความรู้ในโลกธุรกิจ  ปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อการเติบโตและผลลัพธ์ที่สูงกว่าเป้าหมายของธุรกิจ

3.พัฒนาทีมธุรกิจ ประกอบด้วย
-การเรียนรู้ด้วยตนเองในมิติที่กว้าง  อยากและชอบที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในโลกธุรกิจ รับฟังสิ่งใหม่ ๆ อย่างตั้งใจรวมถึงพร้อมที่จะนำไปคิดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
-สร้างทีมงาน เห็นความสำคัญของการสร้างทีมงานหรือมุ่งเน้นต่อการพัฒนาผู้นำหรือทีมงาน ให้สามารถก้าวหน้าเติบโตขึ้นมารับผิดชอบธุรกิจในระยะยาว
-แสวงหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
ยอมรับความล้มเหลวเพื่อนำมาเป้นบทเรียนแห่งความสำเร็จของธุรกิจ ค้นหา
วิธีการที่จะเปรียบเทียบและถ่ายโยงความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาสู่ธุรกิจทุกวิถีทางที่กระทำได้

4.ทักษะการบริหาร ประกอบด้วย
-ทักษะในการจัดการคน เลือกและคัดคนที่เหมาะสมนำทีม  สามารถจูงใจและวัดผลคนตามความสำเร็จหรือผลงาน
-ความเก่งด้านจัดองค์กร วินิจฉัยองค์กรเพื่อทำงานเต็มความสามารถ สร้างความไว้ใจ แบ่งปันข้อมูล มีการกำหนดความรับผิดชอบและให้อำนาจตัดสินใจที่ชัดเจนตามที่มอบหมาย
-มีวิธีทางการเงินและการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ
 สามารถจัดการด้านบัญชี-การเงิน มีระบบการจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

5.นวัตกรรม ประกอบด้วย
-ความคิดริเริ่ม สามารถมีที่จะแนวคิดใหม่ ๆ  ปรับปรุง แนวคิดไปสู่รูปธรรม หรือ นำไปสู่ภาคปฏิบัติจริงของธุรกิจได้
-ความยืดหยุ่น  การปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานหรือกระบวนการ ให้รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่อาจคาดการณ์ได้
-การปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่  หมายถึงชอบหรือแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ 
 ในการปรับทั้งวิธีการทำงาน วิธีการดำเนินธุรกิจ หรือพัฒนาโอกาสใหม่ ๆ เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน

6.คุณลักษณะแห่งตน  ประกอบด้วย
-มองโลกในแง่ดี  มีทัศนคติหรือวิธีการคิดอ่านที่เห็นโอกาสหรือช่องทางในทางบวกมากกว่าการที่จะมีโลกทรรศน์ในทางลบ หรือวิพากษ์วิจารณ์แต่จุดด้อย
-เชื่อมั่นในตนเอง  มีความเชื่อมั่นหรือยึดมั่นในหลักการแห่งตนที่สูง หรือไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ยังไม่มีข้อสรุปหรือข้อมูลที่ชัดเจน

การยืนยัน โมเดลความสามารถหลักของผู้ประกอบการ

ผู้เขียน (ผู้วิจัย-ดร.ดนัย เทียนพุฒ)และ ดร.จิรัสย์ ศิรศิริรัศม์ ได้ทำการวิจัยเพื่อยืนยันความตรงตามโครงสร้าง โดยการศึกษากับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs แบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling)จากกลุ่มประชากรเป้าหมายธุรกิจ SMEs ด้านการผลิต การบริการและการค้าทั้งสิ้น   66,001 แห่ง จังหวัดลำปาง  28,617 แห่ง จังหวัดเพชรบุรี 15,599 แห่ง และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 21785 แห่ง

ได้ใช้ตารางสุ่มตัวอย่างโดยได้รายชื่อธุรกิจ SMEs ที่่ลงทะเบียนไว้กับ สสว. ตามขนาดตัวอย่างที่คำนวณจากสูตร ทาโร่ ยามาเน่(Taro  Yamane,1973 อ้างถึงในบุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์,2540) ที่ระดับความคลาดเคลื่อน ร้อยละ + 0.5 ได้ขนาดกลุ่มตัวอย่าง จังหวัดลำปาง 395 แห่ง จังหวัดเพชรบุรี 390 แห่ง และจังหวัดลำปาง 395 แห่ง สำรองไว้ 22 แห่ง รวม มีตัวอย่างธุรกิจ SMs ทั้งหมด 1,200 แห่ง

สร้างแบบสอบถามตามโมเดลความสามารถหลักดังกล่าวพร้อมการตรวจสอบความตรงตามเนี้อหาและนำไปทดลองใช้ กับกลุ่มตัวอย่าง 30 รายการ(แห่ง)
วิเคราะห์ทางสถิติพบว่าเครื่องมือมีความตรงตามเนื้อหา ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือน พ.ค.-มิย.53

หลังจากนั้นทำการวิเคราะห์ ด้วยโปรแกรม LISREL ในด้านความตรงตามโครงสร้างของตัวแปรความสามารถหลักของผู้ประกอบการ (COM) ที่วัดได้จากตัวแปรสังเกต 6 ตัวแปรคือ 1)ความสามารถด้านวิสัยทัศน์ธุรกิจ 2) ความสามารถด้าน High Performance 3) ความสามารถด้านการพัฒนาทีมธุรกิจ 4)ความสามารถด้านนวัตกรรม 5) ความสามารถด้านคุณลักษณะแห่งตน และ 6)ความสามารถด้านทักษะการบริหาร 

พบว่าแต่ละองค์ประกอบของความสามารถหลักของผู้ประกอบการมีความสำคัญใกล้เคียงกัน


 ดังนั้น  โมเดลความสามารถหลักของผู้ประกอบการได้ยืนยันทั้งทางทฤษฎีและทางสถิติเรียบร้อย

!!!! เตรียบพบกับ ผลการวิจัยธุรกิจครอบครัวเรื่องใหม่ ...เกี่ยวกับ ธุรกิจครอบครัวไทย 4 ตระกูลใหญ่ และโมเดลความสามารถหลักของผู้ประกอบการไทย.....ภายในปี 2554 นี้

***อ่านรายงานประกอบของ....ผลการยืนยันโมเดลความสามารถของผู้ประกอบการไทย(COM) ได้


 (ผู้เขียนขอขอบคุณเป็นอย่างมากที่ ดร.พิมพ์ประภา อมรกิจภิญโญ ที่เป็นธุระและจัดทำการวิเคราะห์ CFA ในครั้งนี้)

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com
Line ID : thailand081

Saturday, March 5, 2011

ทายาทธุรกิจครอบครัว :Succeeding Generation

 (ให้ช่างตัดกระดาษตัดรูปเหมือนที่ Universal Studios Japan)

    คำว่า ธุรกิจครอบครัว -Family Business  ทายาทธุรกิจ การสืบทอดธุรกิจ  สำหรับ พ.ศ. ปัจจุบัน ดูจะเป็นคำที่เห็นและได้ยินกันคุ้นหู คุ้นตามากขึ้น ทั้ง นิตยสาร นสพ. ธนาคารพาณิชบ์ฯ ที่โดดมาจับลูกค้ากลุ่มนี้(นำด้วยการพัฒนาความรู้ตามด้วยสินเชื่อ) หรือ แม้กระทั่งมหา'ลัย ถูกแรงกระแทกของธุรกิจครอบครัวให้ต้องเปิดสอนสาขาวิชานี้

    เร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนเห็น อีกคำที่พูดกันมาก "จากรุ่นสู่รุ่น (Generation to Generation) " ทำให้กลับมานั่งคิดว่า  ลองไขข้อความรู้เรื่องนี้ให้กระจ่างขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ได้เวลาเหมาะเจาะ

     ที่เรียกว่า "ทายาทธุรกิจ" หรือ "ผู้สืบทอดธุรกิจ"  หากใช้คำว่า Successor  น่าจะเข้าใจตรงกันได้
     คำถามจึงมีอยู่ว่า
     1) เป็นการที่รุ่นลูกสืบทอดธุรกิจ จากรุ่นพ่อ ใช่ไหม
     2) หรือ การส่งต่อธุุรกิจ จากรุ่นที่ 1 ไปยังรุ่นที่ 2  และรุ่นที่ 2 ส่งต่อไปยัง รุ่นที่ 3 อย่างนี้เรื่อย ๆ ไปใช่ไหม
    3) การที่คุณ บัณฑูร ล่ำซำ บอกว่า เขาเป็น รุ่นที่ 5 ของตระกูลล่ำซำ ท่านเข้าใจว่าอย่างไร
    4) ประเด็นของการสืบทอดธุรกิจ มีทฤษฎี หรือไม่ หรือว่า เป็นง่าย ๆ แบบที่เราเข้าใจข้างต้น
    5) และถ้าผู้เขียนบอกว่า ตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้นำตระกูลยังเป็นรุ่นที่ 2 อยู่ท่านเชื่อและเข้าใจตามผู้เขียนหรือ ไม่ หรือ อาจจะงงและคัดค้านอยู่ในใจ เพราะปัจจุบันเห็นมีทายาทเป็นรุ่น 6 รุ่น 7 แล้ว

    คำตอบของเรื่องราวข้างต้น ผู้เขียนขอแจงให้ทราบพอเป็นที่เข้าใจง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

   กรณีของ ตระกูลจิราธิวัฒน์ หรือรู้จักกันว่าเป็นผู้บุกเบิกและกุมค้าปลีกเมืองไทยมานานจนแทบจะแยกไม่ออกไปจากคนไทย
 
" ริษัทเซ็นทรัลเทรดดิ้ง อันเป็นจุดกำเนิดของห้างเซ็นทรัลในปัจจุบัน ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2490 โดยเตียง จิราธิวัฒน์ (นี่เตียง แซ่เจ็ง) และสัมฤทธิ์  (ฮกเส่ง แซ่เจ็ง) บุตรชายคนโต เป็นร้านค้าตึกแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น 1 คูหา (ชั้นบนเป็นที่พักอาศัย) ปากตรอกกัปตันบุช ย่านสี่พระยา จำหน่ายหนังสือ เป็นหลัก รวมทั้ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า และ เครื่องสำอาง ทั้งสินค้าในประเทศและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเซ็นทรัล เป็นกิจการใหม่ ที่สานต่อจากกิจการร้านชำ เข่งเซ่งหลีบางขุนเทียน ของเตียง ... และเปลี่ยนเป็น "ห้างเซ็นทรัล" เมื่อเปิดสาขาวังบูรพา ซึ่งตรงกับคำว่า Central ... โดยยึดหลัก สินค้าคุณภาพ ราคายุติธรรม"

เมื่อ เตียง จิราธิวัฒน์ ถึงแก่กรรมเมื่อ 12 ก.ค.2511  สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ได้เข้าดำเนินการห้างเซ็นทรัลต่อมากับน้องอีก 2 คน แต่รู้กันว่า ผู้กุมบังเหียนห้างเซ็นทรัลคงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก  "จิราธิวัฒน์สัมฤทธิ์" 

ลักษณะของการสืบทอดธุรกิจ หากมองโดยทั่วๆไป จะเป็นลักษณะของ รุ่นที่ 1 สืบทอดไปยังรุ่นที่ 2 ซึ่งในทางทฤษฎีธุรกิจครอบครัวมีความลึกซึ้งมากกว่านั้น เรียกว่า "Controlling Owner"  และการสืบทอดธุรกิจเป็นรูปแบบ "Recycle"

หมายความว่า  ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ควบคุมความเป็นเจ้าของกิจการห้างเซ็นทรัล และสืบทอดธุูรกิจไปให้รุ่นลูก (จากเตียง จิราธิวัฒน์สืบทอดหรือส่งต่อไปยังสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์) 
และ เมื่อสัมฤทธิ์ เสียชีวิตลงเมื่อ 10 ก.ค.35  กิจการของครอบครัว จิราธิวัฒน์ ได้ถูกส่งต่อไปยัง วันชัย จิราธิวัฒน์ (เป็นน้องชายของสัมฤทธิ์)  ซึ่งหมายความว่า ห้างเซ็นทรัลยังคงการบริหารโดยครอบครัวอยู่ในรุ่นที่ 2  รูปแบบนี้ทาง ทฤษฎีธุรกิจครอบครัวเรียกว่า "Sibling Partnership"  หมายถึงรุ่น พี่-น้อง เข้าควบคุมธุรกิจครอบครัวต่อ และการสืบทอดธุรกิจจะเป็นรูปแบบที่เรียกว่า "Evolutionary"


ตระกูลจิราธิวัฒน์จึงเป็น กรณีธุรกิจครอบครัวที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ....เราไม่ได้สนใจแค่นับว่าปัจจุบันเป็นรุ่นไหนของครอบครัว หากท่านต้องการศึกษาธุรกิจครอบครัว เราต้องสนใจลึกกว่านั้นโดยศึกษากันใน  2 ลักษณะ คือ 1)รูปแบบของธุรกิจครอบครัว ขับเคลื่อนต่ออย่างไรของอำนาจควบคุม และ 2) ลักษณะของการสืบทอดธุรกิจ หรือ การส่งไม้ต่อ มีรูปแบบเป็นอย่างไร



ดร.ดนัย เทียนพุฒ
     นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษาอิสระ
วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า
โทร 0818338505  email: drdanait@gmail.com
Line ID : thailand081

Friday, March 4, 2011

ข้อคิดธุรกิจครอบครัวไทยจาก บัณฑูร ล่ำซำ


ในระหว่างทีผู้เขียน (ดร.ดนัย เทียนพุฒ) กำลังศึกษาข้อมูลของ ตระกูลล่ำซำ ได้ค้นเจอ บทอภิปรายของ คุณบัณฑูร ลำซ่ำ หลายปีแล้ว
..... เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนาพิเศษโอกาสครบรอบ 30 ปี ในหัวข้อ "วิกฤตประเทศไทย ยุคทุนนิยมไล่ล่า" โดยมี นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมอภิปราย

ซึ่ง เห็นว่าได้ข้อคิดที่น่าสนใจจึงนำมาโพสต์ต่อ  นำมาจาก
** http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q2/2006june01p7.htm 
*แหล่งข้อมูล มติชนรายวัน วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10309 

 นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุนนิยมอยู่ในชีวิตคนไทยมาโดยตลอด เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเลือกใช้ทุนนิยมเป็นตัวกระตุ้นให้คนตื่นเช้า ลุกขึ้นไปทำงาน เพราะมีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต แต่ก็มีความกดดันตามมาที่ต้องทำงานให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ทุกคนต้องแข่งขันเพื่อให้ชีวิตมีคุณภาพด้านวัตถุที่ดีขึ้น ถ้าไม่มีทุนนิยมเป็นตัวกระตุ้นก็จะไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่เกิดความพยายามให้ผลิตสินค้าที่ดีขึ้น

"ตอนแรกทุนนิยมเหมือนเป็นเด็กตัวน้อยที่มีดวงตาสดใส มีพลังชีวิตบริสุทธิ์ แต่พอเติบใหญ่ไปกลายเป็นอสุรกายที่น่ากลัว มีแรงและมีฤทธิ์มาก นำไปสู่ความหลากหลายของความเป็นเจ้าของ จากธุรกิจเล็กๆ กลายเป็นบริษัทมหาชน เพราะธุรกิจมีการขยายตัวขึ้น หากไม่ระวังจะกลายเป็นอสุรกายเพราะมีความกดดันจากผู้ถือหุ้น" นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ธรรมชาติของทุนนิยมคือ ใครทำงานได้ดีกว่าจากความกดดันที่มีมากขึ้น หน้าที่ของผู้บริหารคือทำให้ธุรกิจมีกำไรสูงสุด ความสำเร็จไม่เคยตัดสินด้วยตัวอื่นเลย ทำเพื่อกำไรอย่างเดียว ความดีในอดีตไม่พูดถึงเมื่อพ้นไปแล้วก็ผ่านไป ต้องทำปีหน้าให้ดีขึ้น ซึ่งคือความกดดัน

"เมื่อทุนนิยมมาถึงจุดหนึ่งแล้วไม่สามารถหยุดได้ เมื่อมีการผลิตได้มากขึ้น คนที่อยู่ในระบบก็อยากได้ส่วนแบ่งมากขึ้น โลกนี้ตัดสินว่าคนเก่งมีประเภทเดียวคือหาเงินเก่ง ถ้าไม่ระวังจะเกิดความคิดว่าคนดี คนเก่ง มีประเภทเดียวคือคนมีทรัพย์ และปัญหาที่ตามมาคือ จะไม่มีความปราณีในการทำธุรกิจ เอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพันถ้าไม่สามารถทำงานได้ก็จะอยู่ไม่ได้" นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาคือการแบ่งไม่เท่ากัน มีคนได้กับคนไม่ได้ แม้ว่าโดยรวมอาจมีผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้มีการแบ่งไม่เท่ากันมากขึ้น ความกดดันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทำให้ต้องเปิดตลาดเสรี ตะวันตกมีความต้องการแสวงหาประโยชน์ให้ได้มากขึ้นจากทั่วโลก ซึ่งก็สามารถทำได้เพราะเก่งกว่า มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ทำให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้นจากการค้าเสรีที่ตะวันตกเรียกว่า WIN WIN Strategy (กลยุทธ์ชนะทั้งสองฝ่าย) ซึ่งแปลว่า ฝรั่ง WIN ฝรั่ง WIN หรือคนตัวใหญ่กว่าไล่เตะคนตัวเล็กกว่า

นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า ธนาคารกสิกรไทยก็ประสบมาเมื่อวิกฤตปี 2540 ที่ไม่สามารถโทษใครได้ เพราะเกิดจากการคนไทยทำเอง เป็นความลืมตัว อยู่บนความฟุ้งเฟ้อ แต่หลังจากที่ผ่านพ้นไปแล้วสิ่งที่เหลืออยู่มากมายคือ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หนี้เสียมหาศาลในระบบการเงินไทย ซึ่งไม่สามารถเอาคืนมาได้ โดยหนี้เสียดังกล่าวผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินก็ต้องเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบตามระบบทุนนิยมที่จัดการไม่ได้ และที่เหลือจากนั้นประชาชนผู้เสียภาษีก็ต้องรับผิดชอบโดยการนำเงินงบประมาณมาชดใช้

"ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ผู้ที่อาสามารับจัดการสินทรัพย์ด้อยค่า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยเรียกตัวเองว่า Distress Asset Management หรือเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ได้ว่า "แร้งลง" เพราะประเทศไทยไม่ได้เตรียมพร้อมจะเผชิญการแก้ปัญหามหาศาล ทุกคนต้องแก้ปัญหาครั้งแรกในชีวิต และเมื่อไม่พร้อมก็เป็นการเปิดช่องให้คนที่รู้เรื่องมาซื้อหนี้เสียในราคาถูก ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมา 7-8 ปี ก็พิสูจน์ว่าสินทรัพย์ที่เสียหายได้คืนมาเพียง 60% หมายความว่ามีผู้ได้รับประโยชน์ฟรีๆ 40% ซึ่งเป็นต่างชาติ เป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า ที่ใดมีความอ่อนแอจะมีคนตัวใหญ่กว่า มีกำลัง มีความรู้มากกว่ามาหาประโยชน์จากความอ่อนแอ" นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ขณะนั้นธนาคารมีเอ็นพีแอล (หนี้เสีย) มากมาย และมีคนอาสาซื้อหนี้เสียของธนาคารออกไป ซึ่งคิดว่าจำเป็นต้องทำเพราะไม่เคยเจอปัญหาลักษณะนี้ แต่เมื่อมีการประเมินสินทรัพย์และมีการตีราคาให้เหลือ 20% ต้องตัดทุน 80% แม้ว่าจะเป็นการตัดเนื้อร้ายทิ้ง แต่ก็ทำให้เลือดไหลมากไป จึงตอบไปว่าไม่เอา แต่นึกไม่ถึงว่าจะมากรี๊ดกร๊าดใส่ว่าธนาคารจะต้องเพิ่มทุน จึงโกรธมากคิดในใจว่า "ไอ้ฝรั่งตาน้ำข้าวถือดียังไงมากรรโชกทรัพย์ในบ้านของกู บ้านนี้เมืองนี้เคยเป็นเมืองขึ้นของมึงเมื่อไร" จากนั้นก็ไม่เคยร่วมสังฆกรรมร่วมกับเขาอีกเลย เพราะถือเป็นความร้ายกาจของทุน

นายบัณฑูรกล่าวว่า ตะวันตกคิดเสมอว่าบรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่ในโลกตะวันตกควรจะได้เท่าไร และส่วนที่เหลือพวกผิวเหลือง ผิวน้ำตาล ผิวดำก็ไปแบ่งกันเอง การแบ่งสินทรัพย์ที่ไม่ลงตัวนำไปสู่ความแตกหักของโลกมนุษย์ บางส่วนที่ไม่ยินยอม หากตัวใหญ่ก็ส่งเสียงสู้กันได้ แต่ถ้าตัวเล็กอย่างประเทศไทยก็เป็นปัญหา ทุนนิยมไม่ได้สนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน แต่สนองเฉพาะมนุษย์ที่มีสตางค์เท่านั้น ปัญหาของทุนนิยมคือทำให้มีความแตกต่างเกิดขึ้นในโลกมากขึ้น เช่นประเทศจีนมีเศรษฐกิจโดยรวมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่มีความแตกต่างมากขึ้น ทุนนิยมทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น

นายบัณฑูรกล่าวว่า ข้อคิดของธุรกิจไทยมี 4 ประเด็นคือ 1.ต้องเรียนรู้ให้เร็วขึ้น รู้เทคโนโลยี รู้ศาสตร์ของการจัดการ ซึ่งความรู้ยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย 2.อย่าทำเกินตัว อย่าบริโภคเกินตัว อย่ากู้เกินตัว 3.ต้องคงความเป็นชนชาติไทย 4.ต้องทำอารยะขัดขืน โดยขัดขืนกระแสที่ไม่ดี ทุนที่แท้จริงไม่มีคำว่าบุญคุณ เมื่อเกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ไม่มีทางเลี่ยงจึงต้องสู้ไม่เช่นนั้นจะถูกกลืนด้วยทุนนิยมไล่ล่า


4 มี.ค.54

Wednesday, March 2, 2011

เทคนิคการบริหารคนของ บัญชา ล่ำซำ -ธุรกิจครอบครัว


ในระหว่างที่ผู้เขียนศึกษาเกี่ยวกับ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ "ตระกูลล่ำซำ"  (งานวิจัยเรื่องใหม่ ปี 2554 ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไทย โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ กับ ดร.จิรัสย์ ศิรศิริรัศม์) ในระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลอยู่  นึกถึง "เทคนิคการบริหารคนของคุณบัญชา ล่ำซำ" ที่ได้เคยสังเคราะห์และตีพิมพ์ในหนังสือ นักบริหารมืออาชีพ (2530) โดยได้รับอนุญาต จากคุณบัญชา ให้พิมพ์เผยแพร่
 จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ได้เห็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของ นักการธนาคารผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของวงการธนาคารเมืองไทย

 เทคนิคการบริหารคนของบัญชา ล่ำซำ

  คนหรือทรัพยากรมนุษย์นับเป็นสิ่งสำคัญและมีค่าที่สุด ถ้ามีคนดีไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม งานสามารถเสร็จไปแล้วถึงหกสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามอบหมายงานให้ถูกคน ถูกอุปนิสัย ถูกความสามารถของเขา  แต่ถ้ามอบหมายงานให้ไม่ถูกคนแล้วนอกจากงานจะไม่เดินแล้วยังจะทำให้อย่างอื่นช้าตามไปด้วย ดังนั้นคนจึงเป็นปัจจัยและเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด 


ผู้เขียนได้สังเคราะห์เทคนิคการบริหารคนของคุณบัญชา ล่ำซำ มานำเสนอใน 2 เรื่องคือ การสร้างคนและวิธีการบังคับบัญชาคน (ดนัย เทียนพุฒ (2530) นักบริหารมืออาชีพ : 28-30) โดยมีรายละเอียดดังนี้

การสร้างคน
แนวทางในการสร้างคนของ บัญชา ล่ำซำมีดังนี้
1. การสรรหาคนโดยใช้ระบบคุณธรรม คือ การรับคนโดยไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก หรือหากจะมีก็มีเป็นส่วนน้อยเพราะความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ
2. การให้ทุนการศึกษา ดูงานและฝึกอบรม กระทำใน 2 ลักษณะคือ ถ้าเป็นคนจากภายนอกจะให้ทุนไปศึกษาเรียนต่อในระดับปริญญาโท และถ้าเป็นคนภายในเองให้ทุนโดยการสอบหรือการคัดเลือก
3. การพัฒนาพนักงานในรูปของคณะกรรมการ หรือคณะทำงานซึ่งได้ผลมากในด้านการบริหารงานเพราะ
(1) เป็นการระดมความคิดจากคณะบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนมาจากหลายฝ่าย
(2) เป็นการช่วยพัฒนาคนหนุ่มสาว คนเด่น ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้พฤติกรรมของกลุ่มและผู้ใหญ่ ในการวิเคราะห์ปัญหา การเลือกวิธีการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
(3) เป็นการเตรียมผู้นำในอนาคต
(4) เป็นสะพานถ่ายทอดความคิดและทัศนคติระหว่างผู้ใหญ่กับคนหนุ่มสาว ทำให้เกิดเอกภาพในการบริหารงานไม่เกิดช่องว่างมากนักจนเป็นปัญหา
4. การแต่งตั้งและให้ความดีความชอบ ยึดหลักของผลงานและความสามารถยิ่งกว่าอาวุโสหรืออายุงาน
5. การสร้างวินัยให้กับพนักงาน ทำให้เกิดผลดีคือ ความจงรักภักดีต่อองค์กร ความภาคภูมิใจในสถาบันของตน  
การทุ่มเทชีวิตจิตใจในการทำงานให้กับองค์กรยิ่งกว่างานในส่วนตัวของตนเอง 
และจุดสำคัญในการสร้างวินัยคือ
(1) บุคลิกภาพของผู้นำ มีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นในองค์กร เช่น เป็นคนเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการทำงาน มอบหมายงานและมีการติดตามงานอยู่เสมอ เน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของงาน รวมทั้งการเป็นผู้ที่มีประวัติและภาพพจน์ที่ดีในสังคม เป็นต้น
(2) การให้คุณให้โทษแก่พนักงาน ได้แก่ ทำดีมีรางวัล ทำผิดก็ได้รับโทษทัณฑ์ตามลักษณะความผิดในทันทีทันใด
(3) การสร้างระเบียบแบบแผนในการบริหารงาน
(4) การจัดให้มีกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน
(5) การจัดสวัสดิการให้พนักงาน
(6) การให้ความสนใจและเอาใจใส่พนักงาน




วิธีการบังคับบัญชาคน
1. ผู้บังคับบัญชาควรจะมีความจริงใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา แต่อย่าไปแสร้างความหวังไว้มาก ถ้าเขาไม่ได้ก็จะขาดความศรัทธา
2. อย่าประเมินคนโดยผิวเผิน อย่าดูแต่รูปร่างหน้าตา
3. ผู้บังคับบัญชาต้องรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานในระดับต่างๆ ด้วยว่าเขามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร
4. ต้องพยายามไม่มีมีคนล้นงาน
5. ให้มีผลตอบแทนพิเศษ สำหรับคนที่ได้รับมอบหมายงานสำคัญๆ การตอบแทนพิเศษนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นในรูปของเงินเสมอไป อาจจะเป็นตำแหน่ง ประกาศนียบัตร หรือถ้าโดยหลักการแล้วคือการให้รู้ว่าเราพอใจ เราจริงใจในสิ่งที่เขาทำ
6. เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายใน โดยมีการสื่อสารภายในองค์กร เช่น วารสารเพื่อให้พนักงานได้รับรู้ข่าวสารและสื่อสารกันให้มากที่สุด
7. ให้พนักงานได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
8. สร้างความผูกพันทางจิตใจให้แก่ผู้ร่วมงาน เช่น การไปงานศพ งานแต่งงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานได้ง่ายขึ้น
9. ควรยกย่องพอสมควร อย่าให้เขารู้สึกต่ำต้อยแม้ว่าตำแหน่งเขาจะต่ำต้อย เช่น ยาม เราอาจจะเรียกเขาว่าพนักงานรักษาความปลอดภัย



ดร.ดนัย เทียนพุฒ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ
บจก.ดี เอ็น ที คอนซัลแตนทฺ์
โทร 029301133
email: DrDanaiT@gmail.com