Friday, March 4, 2011

ข้อคิดธุรกิจครอบครัวไทยจาก บัณฑูร ล่ำซำ


ในระหว่างทีผู้เขียน (ดร.ดนัย เทียนพุฒ) กำลังศึกษาข้อมูลของ ตระกูลล่ำซำ ได้ค้นเจอ บทอภิปรายของ คุณบัณฑูร ลำซ่ำ หลายปีแล้ว
..... เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดงานสัมมนาพิเศษโอกาสครบรอบ 30 ปี ในหัวข้อ "วิกฤตประเทศไทย ยุคทุนนิยมไล่ล่า" โดยมี นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมอภิปราย

ซึ่ง เห็นว่าได้ข้อคิดที่น่าสนใจจึงนำมาโพสต์ต่อ  นำมาจาก
** http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q2/2006june01p7.htm 
*แหล่งข้อมูล มติชนรายวัน วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10309 

 นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุนนิยมอยู่ในชีวิตคนไทยมาโดยตลอด เพราะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเลือกใช้ทุนนิยมเป็นตัวกระตุ้นให้คนตื่นเช้า ลุกขึ้นไปทำงาน เพราะมีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต แต่ก็มีความกดดันตามมาที่ต้องทำงานให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ทุกคนต้องแข่งขันเพื่อให้ชีวิตมีคุณภาพด้านวัตถุที่ดีขึ้น ถ้าไม่มีทุนนิยมเป็นตัวกระตุ้นก็จะไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่เกิดความพยายามให้ผลิตสินค้าที่ดีขึ้น

"ตอนแรกทุนนิยมเหมือนเป็นเด็กตัวน้อยที่มีดวงตาสดใส มีพลังชีวิตบริสุทธิ์ แต่พอเติบใหญ่ไปกลายเป็นอสุรกายที่น่ากลัว มีแรงและมีฤทธิ์มาก นำไปสู่ความหลากหลายของความเป็นเจ้าของ จากธุรกิจเล็กๆ กลายเป็นบริษัทมหาชน เพราะธุรกิจมีการขยายตัวขึ้น หากไม่ระวังจะกลายเป็นอสุรกายเพราะมีความกดดันจากผู้ถือหุ้น" นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ธรรมชาติของทุนนิยมคือ ใครทำงานได้ดีกว่าจากความกดดันที่มีมากขึ้น หน้าที่ของผู้บริหารคือทำให้ธุรกิจมีกำไรสูงสุด ความสำเร็จไม่เคยตัดสินด้วยตัวอื่นเลย ทำเพื่อกำไรอย่างเดียว ความดีในอดีตไม่พูดถึงเมื่อพ้นไปแล้วก็ผ่านไป ต้องทำปีหน้าให้ดีขึ้น ซึ่งคือความกดดัน

"เมื่อทุนนิยมมาถึงจุดหนึ่งแล้วไม่สามารถหยุดได้ เมื่อมีการผลิตได้มากขึ้น คนที่อยู่ในระบบก็อยากได้ส่วนแบ่งมากขึ้น โลกนี้ตัดสินว่าคนเก่งมีประเภทเดียวคือหาเงินเก่ง ถ้าไม่ระวังจะเกิดความคิดว่าคนดี คนเก่ง มีประเภทเดียวคือคนมีทรัพย์ และปัญหาที่ตามมาคือ จะไม่มีความปราณีในการทำธุรกิจ เอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพันถ้าไม่สามารถทำงานได้ก็จะอยู่ไม่ได้" นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาคือการแบ่งไม่เท่ากัน มีคนได้กับคนไม่ได้ แม้ว่าโดยรวมอาจมีผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่จะทำให้มีการแบ่งไม่เท่ากันมากขึ้น ความกดดันที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันทำให้ต้องเปิดตลาดเสรี ตะวันตกมีความต้องการแสวงหาประโยชน์ให้ได้มากขึ้นจากทั่วโลก ซึ่งก็สามารถทำได้เพราะเก่งกว่า มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ทำให้ได้ผลประโยชน์มากขึ้นจากการค้าเสรีที่ตะวันตกเรียกว่า WIN WIN Strategy (กลยุทธ์ชนะทั้งสองฝ่าย) ซึ่งแปลว่า ฝรั่ง WIN ฝรั่ง WIN หรือคนตัวใหญ่กว่าไล่เตะคนตัวเล็กกว่า

นายบัณฑูรกล่าวอีกว่า ธนาคารกสิกรไทยก็ประสบมาเมื่อวิกฤตปี 2540 ที่ไม่สามารถโทษใครได้ เพราะเกิดจากการคนไทยทำเอง เป็นความลืมตัว อยู่บนความฟุ้งเฟ้อ แต่หลังจากที่ผ่านพ้นไปแล้วสิ่งที่เหลืออยู่มากมายคือ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หนี้เสียมหาศาลในระบบการเงินไทย ซึ่งไม่สามารถเอาคืนมาได้ โดยหนี้เสียดังกล่าวผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินก็ต้องเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบตามระบบทุนนิยมที่จัดการไม่ได้ และที่เหลือจากนั้นประชาชนผู้เสียภาษีก็ต้องรับผิดชอบโดยการนำเงินงบประมาณมาชดใช้

"ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ผู้ที่อาสามารับจัดการสินทรัพย์ด้อยค่า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ โดยเรียกตัวเองว่า Distress Asset Management หรือเรียกเป็นภาษาไทยง่ายๆ ได้ว่า "แร้งลง" เพราะประเทศไทยไม่ได้เตรียมพร้อมจะเผชิญการแก้ปัญหามหาศาล ทุกคนต้องแก้ปัญหาครั้งแรกในชีวิต และเมื่อไม่พร้อมก็เป็นการเปิดช่องให้คนที่รู้เรื่องมาซื้อหนี้เสียในราคาถูก ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมา 7-8 ปี ก็พิสูจน์ว่าสินทรัพย์ที่เสียหายได้คืนมาเพียง 60% หมายความว่ามีผู้ได้รับประโยชน์ฟรีๆ 40% ซึ่งเป็นต่างชาติ เป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า ที่ใดมีความอ่อนแอจะมีคนตัวใหญ่กว่า มีกำลัง มีความรู้มากกว่ามาหาประโยชน์จากความอ่อนแอ" นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวว่า ขณะนั้นธนาคารมีเอ็นพีแอล (หนี้เสีย) มากมาย และมีคนอาสาซื้อหนี้เสียของธนาคารออกไป ซึ่งคิดว่าจำเป็นต้องทำเพราะไม่เคยเจอปัญหาลักษณะนี้ แต่เมื่อมีการประเมินสินทรัพย์และมีการตีราคาให้เหลือ 20% ต้องตัดทุน 80% แม้ว่าจะเป็นการตัดเนื้อร้ายทิ้ง แต่ก็ทำให้เลือดไหลมากไป จึงตอบไปว่าไม่เอา แต่นึกไม่ถึงว่าจะมากรี๊ดกร๊าดใส่ว่าธนาคารจะต้องเพิ่มทุน จึงโกรธมากคิดในใจว่า "ไอ้ฝรั่งตาน้ำข้าวถือดียังไงมากรรโชกทรัพย์ในบ้านของกู บ้านนี้เมืองนี้เคยเป็นเมืองขึ้นของมึงเมื่อไร" จากนั้นก็ไม่เคยร่วมสังฆกรรมร่วมกับเขาอีกเลย เพราะถือเป็นความร้ายกาจของทุน

นายบัณฑูรกล่าวว่า ตะวันตกคิดเสมอว่าบรรดาทรัพย์สินที่มีอยู่ในโลกตะวันตกควรจะได้เท่าไร และส่วนที่เหลือพวกผิวเหลือง ผิวน้ำตาล ผิวดำก็ไปแบ่งกันเอง การแบ่งสินทรัพย์ที่ไม่ลงตัวนำไปสู่ความแตกหักของโลกมนุษย์ บางส่วนที่ไม่ยินยอม หากตัวใหญ่ก็ส่งเสียงสู้กันได้ แต่ถ้าตัวเล็กอย่างประเทศไทยก็เป็นปัญหา ทุนนิยมไม่ได้สนองความต้องการของมนุษย์ทุกคน แต่สนองเฉพาะมนุษย์ที่มีสตางค์เท่านั้น ปัญหาของทุนนิยมคือทำให้มีความแตกต่างเกิดขึ้นในโลกมากขึ้น เช่นประเทศจีนมีเศรษฐกิจโดยรวมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่มีความแตกต่างมากขึ้น ทุนนิยมทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น

นายบัณฑูรกล่าวว่า ข้อคิดของธุรกิจไทยมี 4 ประเด็นคือ 1.ต้องเรียนรู้ให้เร็วขึ้น รู้เทคโนโลยี รู้ศาสตร์ของการจัดการ ซึ่งความรู้ยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย 2.อย่าทำเกินตัว อย่าบริโภคเกินตัว อย่ากู้เกินตัว 3.ต้องคงความเป็นชนชาติไทย 4.ต้องทำอารยะขัดขืน โดยขัดขืนกระแสที่ไม่ดี ทุนที่แท้จริงไม่มีคำว่าบุญคุณ เมื่อเกิดมาอยู่บนโลกใบนี้ไม่มีทางเลี่ยงจึงต้องสู้ไม่เช่นนั้นจะถูกกลืนด้วยทุนนิยมไล่ล่า


4 มี.ค.54

No comments:

Post a Comment