Wednesday, March 2, 2011

เทคนิคการบริหารคนของ บัญชา ล่ำซำ -ธุรกิจครอบครัว


ในระหว่างที่ผู้เขียนศึกษาเกี่ยวกับ ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ "ตระกูลล่ำซำ"  (งานวิจัยเรื่องใหม่ ปี 2554 ที่กำลังศึกษาเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวไทย โดย ดร.ดนัย เทียนพุฒ กับ ดร.จิรัสย์ ศิรศิริรัศม์) ในระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลอยู่  นึกถึง "เทคนิคการบริหารคนของคุณบัญชา ล่ำซำ" ที่ได้เคยสังเคราะห์และตีพิมพ์ในหนังสือ นักบริหารมืออาชีพ (2530) โดยได้รับอนุญาต จากคุณบัญชา ให้พิมพ์เผยแพร่
 จึงอยากนำมาเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ได้เห็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของ นักการธนาคารผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของวงการธนาคารเมืองไทย

 เทคนิคการบริหารคนของบัญชา ล่ำซำ

  คนหรือทรัพยากรมนุษย์นับเป็นสิ่งสำคัญและมีค่าที่สุด ถ้ามีคนดีไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม งานสามารถเสร็จไปแล้วถึงหกสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าเรามอบหมายงานให้ถูกคน ถูกอุปนิสัย ถูกความสามารถของเขา  แต่ถ้ามอบหมายงานให้ไม่ถูกคนแล้วนอกจากงานจะไม่เดินแล้วยังจะทำให้อย่างอื่นช้าตามไปด้วย ดังนั้นคนจึงเป็นปัจจัยและเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด 


ผู้เขียนได้สังเคราะห์เทคนิคการบริหารคนของคุณบัญชา ล่ำซำ มานำเสนอใน 2 เรื่องคือ การสร้างคนและวิธีการบังคับบัญชาคน (ดนัย เทียนพุฒ (2530) นักบริหารมืออาชีพ : 28-30) โดยมีรายละเอียดดังนี้

การสร้างคน
แนวทางในการสร้างคนของ บัญชา ล่ำซำมีดังนี้
1. การสรรหาคนโดยใช้ระบบคุณธรรม คือ การรับคนโดยไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก หรือหากจะมีก็มีเป็นส่วนน้อยเพราะความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ
2. การให้ทุนการศึกษา ดูงานและฝึกอบรม กระทำใน 2 ลักษณะคือ ถ้าเป็นคนจากภายนอกจะให้ทุนไปศึกษาเรียนต่อในระดับปริญญาโท และถ้าเป็นคนภายในเองให้ทุนโดยการสอบหรือการคัดเลือก
3. การพัฒนาพนักงานในรูปของคณะกรรมการ หรือคณะทำงานซึ่งได้ผลมากในด้านการบริหารงานเพราะ
(1) เป็นการระดมความคิดจากคณะบุคคลซึ่งเป็นตัวแทนมาจากหลายฝ่าย
(2) เป็นการช่วยพัฒนาคนหนุ่มสาว คนเด่น ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้พฤติกรรมของกลุ่มและผู้ใหญ่ ในการวิเคราะห์ปัญหา การเลือกวิธีการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ
(3) เป็นการเตรียมผู้นำในอนาคต
(4) เป็นสะพานถ่ายทอดความคิดและทัศนคติระหว่างผู้ใหญ่กับคนหนุ่มสาว ทำให้เกิดเอกภาพในการบริหารงานไม่เกิดช่องว่างมากนักจนเป็นปัญหา
4. การแต่งตั้งและให้ความดีความชอบ ยึดหลักของผลงานและความสามารถยิ่งกว่าอาวุโสหรืออายุงาน
5. การสร้างวินัยให้กับพนักงาน ทำให้เกิดผลดีคือ ความจงรักภักดีต่อองค์กร ความภาคภูมิใจในสถาบันของตน  
การทุ่มเทชีวิตจิตใจในการทำงานให้กับองค์กรยิ่งกว่างานในส่วนตัวของตนเอง 
และจุดสำคัญในการสร้างวินัยคือ
(1) บุคลิกภาพของผู้นำ มีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นในองค์กร เช่น เป็นคนเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการทำงาน มอบหมายงานและมีการติดตามงานอยู่เสมอ เน้นเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของงาน รวมทั้งการเป็นผู้ที่มีประวัติและภาพพจน์ที่ดีในสังคม เป็นต้น
(2) การให้คุณให้โทษแก่พนักงาน ได้แก่ ทำดีมีรางวัล ทำผิดก็ได้รับโทษทัณฑ์ตามลักษณะความผิดในทันทีทันใด
(3) การสร้างระเบียบแบบแผนในการบริหารงาน
(4) การจัดให้มีกิจกรรมสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน
(5) การจัดสวัสดิการให้พนักงาน
(6) การให้ความสนใจและเอาใจใส่พนักงาน




วิธีการบังคับบัญชาคน
1. ผู้บังคับบัญชาควรจะมีความจริงใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา แต่อย่าไปแสร้างความหวังไว้มาก ถ้าเขาไม่ได้ก็จะขาดความศรัทธา
2. อย่าประเมินคนโดยผิวเผิน อย่าดูแต่รูปร่างหน้าตา
3. ผู้บังคับบัญชาต้องรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานในระดับต่างๆ ด้วยว่าเขามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร
4. ต้องพยายามไม่มีมีคนล้นงาน
5. ให้มีผลตอบแทนพิเศษ สำหรับคนที่ได้รับมอบหมายงานสำคัญๆ การตอบแทนพิเศษนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นในรูปของเงินเสมอไป อาจจะเป็นตำแหน่ง ประกาศนียบัตร หรือถ้าโดยหลักการแล้วคือการให้รู้ว่าเราพอใจ เราจริงใจในสิ่งที่เขาทำ
6. เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันภายใน โดยมีการสื่อสารภายในองค์กร เช่น วารสารเพื่อให้พนักงานได้รับรู้ข่าวสารและสื่อสารกันให้มากที่สุด
7. ให้พนักงานได้รับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
8. สร้างความผูกพันทางจิตใจให้แก่ผู้ร่วมงาน เช่น การไปงานศพ งานแต่งงาน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานได้ง่ายขึ้น
9. ควรยกย่องพอสมควร อย่าให้เขารู้สึกต่ำต้อยแม้ว่าตำแหน่งเขาจะต่ำต้อย เช่น ยาม เราอาจจะเรียกเขาว่าพนักงานรักษาความปลอดภัย



ดร.ดนัย เทียนพุฒ
รางวัลนักทรัพยากรมนุษย์ดีเด่นแห่งประเทศไทย ปี 2552 ประเภทนักวิชาการและที่ปรึกษา
กรรมการผู้จัดการ
บจก.ดี เอ็น ที คอนซัลแตนทฺ์
โทร 029301133
email: DrDanaiT@gmail.com

No comments:

Post a Comment